มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นระหว่าง บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ได้อนุมัติการควบรวมบริษัทภายใต้ชื่อ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TRUEE (True Corporation Public Company Limited) โดยจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ ที่เกิดจากการควบรวมจำนวน 138,208,403,204 หุ้น พร้อมจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่จำนวน 34,552,100,801 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 4 บาท มีรายละเอียดพอสมควร

สำหรับผู้บริหารบริษัทใหม่ประกอบด้วย ศุภชัย เจียรวนนท์, เยอเกน คริสเตียน, ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, กมลวรรณ วิปุลากร, กลินท์ สารสิน, ปรารถนา มงคลกุล, อติรุฒน์ โตทวีแสนสุข, ดร.เกา ถงซิ่ง, รุซาร์ ซาบาโนวิค, ลาส์ เอริค และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ซึ่งก็เป็นตัวแทนจากทั้งสองฝ่าย

ปรากฏว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ก่อนที่จะมีการควบรวมเรียบร้อย ดีแทค มีกำไรสุทธิที่ 3,119 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมที่ 152,535 ล้านบาท ส่วนทรู ขาดทุนที่ 18,285 ล้านบาท มีทรัพย์สินรวมที่ 618,095 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ เอไอเอส มีกำไรสุทธิที่ 26,011 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมที่ 337,043 ล้านบาท

จุดนี้กลายเป็นช่องว่างระหว่างบริษัทใหม่กับบริษัทเดิม

กรณีนี้ บริษัทใหม่ต้องการเปลี่ยนชื่อก่อนที่จะเข้าซื้อขายในตลาด อย่างไรก็ตามหุ้นของบริษัทใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า TRUEE มีการซื้อขายในตลาดตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลประกอบการของทรูขาดทุนอยู่ ดังนั้นการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ จะช่วยลดภาระการขาดทุนของทรูไปได้ในระดับหนึ่งที่จะมีผลกับค่าเสื่อมราคาและค่าจัดจำหน่าย ทำให้ลดผลกระทบลงมาได้

เมื่อดูจากผลประกอบการก่อนการควบรวมของ ดีแทค เมื่อเทียบกับปี 2564 มีกำไรลดลง ร้อยละ 7.1 ปี 2565 รายได้จากการให้บริการลดลง ร้อยละ 1.6 ส่วน ทรู หลังผลประกอบการขาดทุนกว่า 1.8 หมื่นล้าน คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงกว่าร้อยละ 20 จากปี 2564 ที่ขาดทุนอยู่ 1.4 พันล้าน คิดเป็นสัดส่วนของรายได้ของทรู ลดลงไปร้อยละ 2.3 ที่ทรูเน้นไปที่การลงทุนเป็นส่วนใหญ่โดยจะเห็นจากจำนวนสินทรัพย์รวมที่มีอยู่กว่า 6 แสนล้าน

...

การควบรวมเกิดขึ้นในขณะที่ทรูอยู่ในสภาวะการขาดทุนติดต่อกัน

ที่ผ่านมาการควบรวมของทั้งสองบริษัทมีการวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร โดยเฉพาะการอนุมัติของรัฐบาลชุดนี้ โดย กสทช. ซึ่งอยู่บนความเสี่ยงทางธุรกิจในภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งมูลค่าของธุรกิจและการแข่งขัน ที่อาจส่งผลกระทบกับผู้บริโภคในอนาคตได้

ณ จุดนี้ก็ต้องจับตากระบวนการ ในตลาดหลักทรัพย์ จะเดินหน้าควบคุมและตรวจสอบกันอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภค

อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มีการแข่งขันสูงในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในภาคปฏิบัติของภาครัฐ จะต้องตรงไปตรงมา และเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนจริงๆ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th