เช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 บันทึกไว้อีกหนึ่งวันว่า “ฝุ่นพิษสาหัสกันถ้วนหน้า” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกษตร บอกว่า เผากันเองในประเทศหนักขึ้นมากจากเมื่อวาน!
ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 เกินค่าแนะนำ 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลก ในกรุงเทพฯและทุกพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ 10 จังหวัดแรกที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงมาก ได้แก่ สุโขทัย ระยอง นนทบุรี กรุงเทพฯ พิษณุโลก หนองบัวลำภู ราชบุรี ลำปาง สมุทรสงคราม สระบุรี และสมุทรปราการ
สาเหตุหลักของฝุ่นพิษวันนี้ในทุกภูมิภาคมาจากการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตรและป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 14% จากเมื่อวาน
โดยจุดความร้อนในประเทศไทยที่รายงานโดย GISTDA เพิ่มขึ้นจาก 1,984 จุด เป็น 2,269 จุด น่าสนใจว่าการพยากรณ์ล่วงหน้ายังไม่สามารถช่วยทำให้ฝุ่นพิษลดลงได้ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่ใช้ในปัจจุบันต้องเร่งปรับปรุงและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
...
ตอกย้ำการดูแลเรื่องมลพิษทางอากาศและกฎหมายที่เป็นแท่งๆไม่บูรณาการ ทำให้มาตรการต่างๆ ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงแม้จะมีแผนที่ดี นอกจากนั้นปรากฏการณ์ “ฝาชีครอบต่ำ” พร้อมลมที่อ่อนแรงทำให้ฝุ่นในพื้นที่เดิมจากยานยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมไม่ระบายออกจากพื้นที่ได้
สำหรับฝุ่นพิษข้ามพรมแดน...ประเทศเพื่อนบ้านก็เผากันหนักมาก เมียนมานำโด่ง 3,142 จุด เผาทั้งข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งไทยเราก็นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นอันดับ 1 เช่นกัน
คิดเป็น 90% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด หรือ 14,312 ล้านบาท
“การนำเข้าข้าวโพดของไทยจากเมียนมาช่วยสนับสนุนการเผาให้เกิดขึ้นในเมียนมา...คนไทยและคนเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องสูดฝุ่นพิษจากเมียนมาที่ข้ามพรมแดนมา ควรเร่งติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาด่วน เผาหนักในเมียนมาคือเดือนมีนาคม สุขภาพคนไทยจะแย่หนัก”
ส่วนกัมพูชามีจุดความร้อน 2,514 จุด ตามด้วย สปป.ลาว 1,585 จุด
“ควรงดกิจกรรมการเผาในช่วงนี้เพื่อลดความรุนแรงต่อสุขภาพ รักษาสุขภาพนะครับทุกคน กลุ่มเสี่ยง เด็ก คนสูงวัย สตรีมีครรภ์...ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้ก่อนออกจากบ้านและไม่ประมาทกับมัจจุราชมืด”
บทความวิจัยเรื่อง “ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ” สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนว่า มลพิษทางอากาศนับว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสังเกตได้จากระดับมลพิษในฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีระดับความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา
และ...ยังเกินค่ามาตรฐานของประเทศไทยที่อนุญาตให้ระดับมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า น่าสนใจด้วยว่าระดับมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครจะยิ่งมีค่าสูงมากในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี โดยแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียรถดีเซลร้อยละ 52 จากการเผาชีวมวลร้อยละ 35
แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่มีงานศึกษาใดที่ประเมินความเสียหายของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพ แต่ในต่างประเทศได้มีการศึกษาไว้พอสมควร อาทิ งานล่าสุดโดย Rangel and Vogl (2019) ที่พยายามวัดผลกระทบจากการเผาอ้อยโดยตรงต่อสุขภาพมนุษย์ในรัฐเซาเปาโล ประเทศบราซิล
ผลการศึกษาพบว่า การเผาไร่อ้อยจะทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาด 10 ไมครอน (PM10) เพิ่มขึ้นในบริเวณ 26-34% และโอโซน (O3) เพิ่มขึ้น 7-8% ในรัศมี 50 กิโลเมตร และหากมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับมลพิษจากการเผาไร่อ้อยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด จะทำให้...
...
หนึ่ง...ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม สอง...คลอดก่อน 32 สัปดาห์ (น้อยกว่า 8 เดือน) สาม...ทารกมีขนาดเล็กกว่าปกติร้อยละ 12 และสี่...เพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ (17 คน ใน 1,000 คน)
องค์การอนามัยโลก พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้คนที่อาศัยในเขตเมืองและชนบทเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึง 4.2 ล้านคนทั่วโลกในปี 2559 ซึ่งนับว่าเป็นมลพิษที่สร้างความเสียหายสูงสุดเมื่อเทียบกับมลพิษประเภทอื่นๆ
โดยร้อยละ 92 ของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งหมดนี้ อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงแปซิฟิกตะวันตกมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด
“ประเทศไทย” ก็เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
แม้ว่างานศึกษาวิจัยที่ประเมินมูลค่าผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอันนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่สังคมไทยคงอยากทราบว่า...มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบอย่างไรและก่อให้เกิดต้นทุนต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใด?
ทำไมมลพิษทางอากาศของประเทศไทยถึงทวีความรุนแรงมากขึ้น? และเราควรมีมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร?
...
รศ.ดร.วิษณุ บอกอีกว่า มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทยกันทุกจังหวัดถ้วนหน้า (ยกเว้นภูเก็ต)
โดยพบว่า ในปี 2562 ความเสียหายมีมูลค่าสูงถึง 2.173 ล้านล้านบาท ประเด็นสำคัญมีว่า...หากรวมทุกสารมลพิษ (PM10, CO, NOx, NO2) ความเสียหายจะมีมูลค่าสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท
สาเหตุหลักๆของมลพิษทางอากาศในไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้น เกิดจาก...ไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย สังเกตจากการตั้งงบประมาณรายจ่ายปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ต่ำ ซึ่งสวนทางกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดในปี 2566 ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้เพียงร้อยละ 0.33 ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด
ถัดมา...มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เน้นใช้การบังคับให้ปฏิบัติตามและมีการใช้มาตรการแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์น้อยมาก และข้อสุดท้ายปัญหาเชิงโครงสร้างที่ขาดหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและขาดการบูรณาการกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
ผู้กำหนดนโยบายต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือแหล่งกำเนิดของมลพิษ ซึ่งต้องทำอย่างจริงจัง...ต่อเนื่อง เช่น ปรับโครงสร้างภาษีและการลดหย่อนภาษีในภาคยานยนต์และการขนส่งใหม่ให้คำนึงถึงอายุการใช้งานรถยนต์ รถบรรทุก เพิ่มมาตรการเพื่อลดการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตร และป่าไม้ทั้งใน...ต่างประเทศ
...
รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างโปร่งใส
...ไม่ประมาทกับมัจจุราชมืดนะครับ เชิญชวนทุกท่านร่วมปกป้องลมหายใจของเราทุกคน ด้วยการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ภาคประชาชน ได้ที่ change.org/CleanAirActTH