สถาบันประสาทวิทยา

หน่วยงานเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เมื่อปี พ.ศ.2500 เดิมชื่อ โรงพยาบาลประสาทพญาไท ให้บริการตรวจและรักษาโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง คู่กับการศึกษาค้นคว้าวิจัย

ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังระดับตติยภูมิและเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ให้ผู้ป่วยหายหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

...

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา เล่าว่า สถาบันประสาทวิทยาเป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วยโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาท อันดับต้นๆของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านวิชาการ การบริการ รวมทั้งการพัฒนา องค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ แต่ละปีมีคนไข้นอกประมาณ 250,000 คน คนไข้ใน ประมาณ 8,000 คน ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การเห็นผู้ป่วยโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทได้รับการดูแลที่ทันสมัย ได้รับความสะดวกสบาย มีสุขภาพดี และมีความสุข

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์

สำหรับนวัตกรรมใหม่ของสถาบันประสาทวิทยานั้น ได้แก่ 1.นวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยมีเครื่องมือทันสมัยต่างๆ อาทิ ใช้กล้องขยายมาช่วยในการผ่าตัดที่เรียกว่า Micro scope การใช้กล้องผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปในแผลผ่าตัดที่เรียกว่า Endoscope เครื่องมือ X-ray เพื่อตรวจดูระดับไม่ให้ผิดพลาดและตรวจสอบขณะใส่วัสดุยึดกระดูกให้ได้ตำแหน่งและมุมตามที่ต้องการเครื่อง Spine Navigator เพื่อบอกระดับที่ต้องการผ่าตัด และช่วยในการเลือกใช้วัสดุต่างๆที่จะมายึดจับกระดูกให้ได้ตามขนาดที่เหมาะสมและมีความแม่นยำสูงสุด 2.การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยสายสวนหลอดเลือด Mechanical Thrombectomy เริ่มให้การรักษาปี 2558 เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถกลับไปเลี้ยงสมองได้ ให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ลดความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต 3.การรักษาผู้ป่วยโรคเคลื่อนไหวผิดปกติด้วยการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า Deep Brain Stimu lation หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

...

4.หน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ Mobile Stroke Unit ภายในมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งสแกนสมอง ฉีดสี ให้ยา หรือติดต่อกับโรงพยาบาลปลายทางเพื่อเตรียมการผ่าตัด 5.NIT PLUS แอปพลิเคชันที่ช่วยให้เข้าถึงการบริการได้สะดวก เช่น การเช็กสิทธิการรักษา ตรวจสอบคิว ดูรายการ นัดหมาย และชำระเงิน เป็นต้น ผู้ป่วยสามารถกดจองคิวได้จากที่บ้าน ช่วยประหยัดเวลา เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มากดจองคิวที่โรงพยาบาล จะประหยัดเวลาได้มากถึง 100 นาที

“ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด สถาบันประสาทวิทยาให้ระบบ แพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลร้อยละ 20 ผู้ป่วยมีความพึงพอใจระดับดีมาก หลังโควิด-19 ก็ยังมีการใช้ระบบแพทย์ทางไกลต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชาชนไทย สาเหตุส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มาจากพฤติกรรมส่วนตัว เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย ไม่ควบคุมความดัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ พักผ่อนน้อย ทำให้เกิดสโตรก โดยเฉพาะหากเกิดอาการปากตก ยกไม่ขึ้น พูดไม่ชัด คิดไม่ออก ให้มาโรงพยาบาลเร็วที่สุด เพราะเรามีเวลาทอง หรือโกลเดนพีเรียดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง จะลดอัตราการตายและพิการได้ ซึ่งทุกโรงพยาบาลขณะนี้มีหน่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรกยูนิตที่ได้มาตรฐาน โดยสถาบันประสาทวิทยาทำการประเมินให้ได้มาตรฐานเหมือนรักษาที่สถาบันประสาทวิทยา ส่วนสโตรกโมบายยูนิต ซึ่งสถาบันประสาทวิทยา มี 1 คัน จอดอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ดูแลกรุงเทพฯตอนเหนือ โดยที่ผ่านมาแต่ละปีรักษาคนไข้ได้ 120-150 คน ขณะที่สถานพยาบาลอื่นๆ ก็มีรถโมบายแบบนี้เช่นกัน โดยแบ่งพื้นที่ช่วยกันดูแล โดยผู้ป่วยสโตรกต้องโทร.แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อที่ 1669 จะประเมินคนไข้และประสานรถโมบายที่จอดอยู่พื้นที่ต่างๆให้เข้ามารับผู้ป่วย เป้าหมายของเราจะลดอัตราการตายจากสโตรกให้ได้เหลือร้อยละ 7 และร้อยละ 5 ตามลำดับ

...

ทั้งนี้ เรามีสโลแกนว่า อ่อนแรง นอนมา เดินกลับบ้าน

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร

ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดี กรมการแพทย์กล่าวว่า “กระ ทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดูแลผู้ป่วย ทุกคนแบบวีไอพี มีการปรับปรุงสถานที่ให้น่าอยู่ ได้รับความสะดวกสบาย มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาใช้ ในส่วนของสถาบันประสาทวิทยา มีการใช้แอปพลิเคชันสำหรับการจองคิวตรวจ มีระบบการรักษาแบบแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ก็ประหยัดค่าเดินทาง เวลา รวมทั้งมีระบบส่งยาทางไปรษณีย์ถึงบ้าน หากจำเป็นจึงมาตรวจที่โรงพยาบาล ทั้งนี้กรมการแพทย์จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้ใช้ได้กับทุกโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ และสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมการแพทย์ จะเป็นหน่วยวิชาการ สร้างเครื่อง สร้างต้นแบบ และสอน สนับสนุนโรงพยาบาลอื่นๆ ให้ยกระดับการบริการที่ได้มาตรฐาน เช่น การสอนการลากลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือด หากปล่อยไว้นานจะเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ ถ้าลากลิ่มเลือดออกมากได้จะลดความพิการ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยี”

...

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่า ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์นับเป็นตัวช่วยสำคัญในการตอบโจทย์งานด้านบริการสาธารณสุขของประเทศ ทั้งในเรื่องของการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การเข้าถึงผู้ป่วยด้วยรถโมบายสโตรกยูนิต เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต ตลอดจนการรักษาด้วยระบบทางไกลเพื่อประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่เราอยากขอฝากก็คือ การดำเนินการที่ต้องมีความต่อเนื่อง จริงจังและจริงใจ

เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานที่ทั่วถึง เท่าเทียมอย่างแท้จริง.

ทีมข่าวสาธารณสุข