ปล่อยให้ชาวบ้านงงกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามาพักใหญ่ ในที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่น มาร่วมประชุมสรุปข้อมูลให้ชัด?

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมควบคุมโรค และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงสร้างความเข้าใจการบังคับใช้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า

สรุประเบียบข้อกฎหมายที่บังคับใช้ ประกอบด้วย คำสั่ง สคบ.ที่ 9/2558 เรื่องห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีสารเคมีอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ผู้ใดขายหรือให้บริการมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้น ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 มาตรา 244 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่า หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

สคบ.จะดำเนินคดีผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่หรือบารากู่ไฟฟ้าทุกราย

...

งานนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค. ย้ำว่า พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กำชับให้เร่งรัดกวาดล้างจับกุม เน้นไปที่ผู้ค้าผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ากรณีตำรวจพบผู้สูบบุหรี่ จำหน่าย หรือครอบครอง สามารถจับกุมและบังคับใช้กฎหมายได้ทันที

สรุปว่าตำรวจจับบุหรี่ไฟฟ้าได้นะจ๊ะ อย่าละเว้น.

สหบาท