36 สถาบันอุดมศึกษาใน ทปอ.ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน–อนาคตจะเดินไปทิศทางใดคือสิ่งที่ท้าทายและสังคมกำลังจับตามอง

แน่นอนบุคคลที่จะให้คำตอบได้ชัดเจนที่สุดคือ “ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) คนใหม่

ที่สำคัญถือเป็นประธาน ทปอ.คนแรกที่มาจาก มช. ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยจากภูมิภาคนับตั้งแต่ให้มีการสรรหาประธานทปอ. ให้มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทย

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล” ถึงแนวทางการทำงานในฐานะประธาน ทปอ. คนใหม่

“เรื่องเร่งด่วนคงเป็นเรื่องเตรียมรับเข้าในส่วนของ TCAS คือต้องสื่อสารให้นักเรียนมีความเข้าใจ จริงๆ แล้วเราพยายามทำให้ TCAS เป็นเครื่องมือในการได้คนที่ตรงตามที่เด็กอยากจะเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อยากให้เด็กรู้ว่าอยากจะเรียนอะไร ดังนั้น จะมีการปรับปรุงพัฒนาในเรื่อง TCAS ซึ่งในส่วนของ ทปอ.จะมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นยิ่งๆขึ้นไป แน่นอนการสอบ TCAS ต้องเตรียมก่อนอย่างน้อย 1 ปี ปีนี้จึงยังไม่เห็นอะไรมาก สิ่งที่กำลังปรับตอนนี้จะเห็นในปี 2567 เช่น มีโอกาสที่จะทำให้นักเรียนส่ง Portfolio หรือผลงานแบบอิเล็กทรอนิกส์มาในระบบได้และจะมีการให้สอบผ่านคอมพิว เตอร์มากขึ้น ซึ่งต้องหาวิธีการว่าในพื้นที่ ที่เข้าถึงยากจะช่วยเด็กอย่างไรหรืออาจต้องเป็นแบบลูกผสมอยู่ ในพื้นที่ที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงหรือไม่มีคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันถือว่ามีน้อยมากแล้วในสังคมไทย แต่ก็ต้องคิดเผื่อไว้ การปรับให้สอบผ่านคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้น จะทำให้ช่วงเวลาในการสอบไม่จำเป็นต้องกำหนดเฉพาะเดือนนั้นเดือนนี้เท่านั้น อาจสามารถสอบปีหนึ่งหลายรอบก็ได้” ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าว

...

ความพยายามปรับเปลี่ยนการสอบ TCAS ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่อยากอยู่ในระบบหรืออยากใช้เวลาในรั้วมหาวิทยาลัยให้น้อยลงหรืออยากเรียนในวิชาที่ใช้เวลาไม่นานแล้วสามารถทำมาหากินได้เลย

“นี่คือประเด็นที่ท้าทายสังคมไทยมากที่ประชุม ทปอ.ได้หารือเกี่ยวกับจำนวนเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลงมาหลายปีแล้ว สิ่งที่พยายามทำตอนนี้คือทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีคำตอบและมีเป้าหมายให้กับเด็กรุ่นใหม่ หลักสูตรจะต้องปรับให้ทันสมัยด้วย แน่นอนการต้องใช้เวลา แต่การปรับเนื้อหาการเรียนการสอน ปรับวิธี การเรียนการสอน สามารถทำได้เลย เพราะอาจารย์ผู้สอนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที ส่วนแนวคิดที่เด็กอยากเรียนเร็วจบเร็วก็ทำได้ แต่ยังไม่ได้ปริญญา อาจเรียนแบบ Non degree ไปก่อน เมื่อไหร่พร้อมก็กลับมาเรียนได้ จริงๆ เกือบ 5–8 ปีที่ผ่านมาเราพูดถึงการเรียนรู้ของกลุ่มที่ไม่ใช่เยาวชน แปลว่าไม่จำเป็นที่จะต้องจบ ม.ปลาย แล้วเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยทันทีให้จบ เพราะเด็กเริ่มมีวัฒนธรรมของ Gap year หรือการเว้นช่วงระยะเวลาก่อนหรือหลังชีวิตมหาวิทยาลัย เพื่อออกไปแสวงหาตัวตน ค้นหาตนเอง ไม่เหมือนสมัยก่อน พอเด็กยอมมี Gap year ก็อาจอยากมาเรียนวิชาผู้ประกอบการสัก 6 เดือนยังไม่ได้ปริญญา แล้วออกไปลองทำมาหากินก็ทำได้ เราก็จะเก็บหน่วยกิตสะสมไว้ให้ ซึ่งขณะนี้ได้เห็นแต่ละมหาวิทยาลัยปรับการสอนแบบ Lifelong Learning มากขึ้น หรือเรื่องของ Data Science คือเรียนที่ไหนก็ได้ เก็บหน่วยกิตไปเรื่อยๆ แล้วก็เทียบจบได้ เราต้องออกแบบไว้หลายๆอย่าง” ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าว

ขณะเดียวกันในฐานะประธาน ทปอ.ก็มีเป้าหมายที่จะต้องทำด้วย

“อยากผลักดันโจทย์สำคัญของประเทศ โดยนำศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยมาผลักดัน ขับเคลื่อนเพื่อช่วยยกระดับประเทศหรือถ้าเราสามารถนำองค์ความรู้ไปช่วยตอบโจทย์สังคมทั้งสังคมไทยและสังคมโลก เพราะผมมองว่าโลกในยุคถัดไปจะมี 2–3 เรื่อง ที่สำคัญ คือ 1.ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะโยงถึงความมั่นคงทางพลังงาน และ 2.ความมั่นคงทางสุขภาพ จากสองเรื่องนี้ถามว่าเราต้องการกำลังคนแบบไหน ยกตัวอย่างเช่น จะสร้างคนให้เข้าใจเรื่องพลังงานในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเชี่ยวชาญเป็นผู้ที่ไปให้ความรู้คนอื่นจนถึงภาคประชาชน ตั้งแต่เรื่องการแก้ปัญหา PM 2.5 ไปจนถึงการลดโลกร้อนเราต้องเข้าไปช่วยเสริม ต้องสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ในปีหนึ่งทั้งประเทศทำงานวิจัยเยอะมาก เพียงแต่เราพยายามจัดกลุ่มให้เป็นงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะยากที่จะบอกว่า อันนี้เฉพาะวิทยาศาสตร์ อันนี้เฉพาะวิศวะ บางเรื่องต้องเอาสังคมศาสตร์ เอามนุษยศาสตร์เข้ามาด้วย เอานักวิจัยที่ทำเรื่องกฎหมายเข้ามาด้วย เช่น การแก้ปัญหา PM 2.5 ถ้าเราไม่เอานักวิจัยที่ทำเรื่องกฎหมายเข้ามา จะคุยเรื่องการจัดสรรที่ดินยังไง การใช้ประโยชน์ผืนป่าติดกันด้วยข้อกฎหมายอย่างไร ถ้าเรามีโอกาสที่จะทำแผนแบบนี้ให้กับประเทศ เห็นภาพรวมของประเทศที่ต้องการ เห็นถึงศักยภาพ เห็นช่องว่างว่าเราจะต้องเติมอะไรเข้าไป ก็จะทำให้การขับเคลื่อนอุดมศึกษา เรื่องการวิจัยและการเตรียมคนของประเทศมีทิศทางมากขึ้น” ประธาน ทปอ.ระบุ

...

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ เล่าต่อด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ทีมบริหาร ทปอ. คิดร่วมกันคือ ทปอ.จะประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หรือ อว. โดย ทปอ.จะเล่นบทเป็น Think Tank หรือมันสมอง เพื่อจะช่วยคิด ช่วยประสานงาน มีข้อเสนอให้ อะไรที่ อว.รู้สึกว่าติดขัด ทปอ.ก็ช่วยเป็น Think Tank หรือมันสมองคิดขึ้นมาให้ โดยจะชวนมหาวิทยาลัยนอก ทปอ.มาช่วยคิดด้วย เชื่อว่ารัฐบาลไหนมาก็อยากได้แผนที่คิดมาดีแล้วเพื่อเอาไปผลักดัน

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” เชื่อว่าประธาน ทปอ. คนใหม่มีความตั้งใจและจะนำพา ทปอ.ให้เป็นธงนำสถาบันอุดมศึกษาในการทำงานเพื่อประเทศ

แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือการปรับตัวและความต่อเนื่องในการทำงานท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ

เพื่อรวมพลังสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ตอบโจทย์ประเทศและผงาดบนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม.

...

ทีมข่าวอุดมศึกษา