นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยมีสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง และพบ 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ขณะที่มีกลุ่มผู้หญิงที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือมีจำนวนน้อยมาก
นางภรณีกล่าวด้วยว่า สสส.สนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ศึกษาวิจัยพบความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 34.6 โดยร้อยละ 82.6 ไม่ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงาน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และพบความรุนแรงด้านจิตใจสูงสุด ร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศ ร้อยละ 4.5 และมีผู้หญิงจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรง เป็นที่มาให้ สสส.สานพลังภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบงานสหวิชาชีพ จัดการกรณีปัญหา (case management) ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัว ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ เอื้อให้ผู้ประสบปัญหามีโอกาสเข้าถึงกระบวนการจัดการปัญหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ผ่านการพัฒนาและเสริมศักยภาพของแกนนำชุมชน และทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว รวมถึงพัฒนาคู่มือสำหรับชุมชนในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรง จัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรงต่อผู้หญิง และการสื่อสารสังคมเรื่องการ “ไม่เพิกเฉย” ต่อความรุนแรง ทั้งนี้สสส.ขอเชิญชวนทุกคนร่วมงานประชุมวิชาการ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ครั้งที่ 2” ในวันที่ 21-23 ก.พ.2566 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นพื้นที่กลางของการส่งเสียงที่ยังแผ่วเบาให้มีพลังมากขึ้น.
...