นับเป็นประเด็นฉาว “สั่นสะเทือนวงการอุดมศึกษาไทย” เมื่อมีข่าวปรากฏนักวิชาการ-นักวิจัย หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย “ซื้อผลงานวิจัยสำเร็จรูป” เพื่อให้มีชื่ออยู่ในบทความตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการนานาชาติ “นำไปเคลมจากมหาวิทยาลัย” ทั้งการขอทุน-อัปเลเวลการทำงานตัวเองนั้น
เหตุการณ์นี้ถูกเปิดเผยจาก “นักวิจัยต่างชาติ” แม้ผลสรุปอยู่ระหว่างตรวจสอบ “การกระทำต้องสงสัยของบุคลากรด้านการศึกษาเพียงไม่กี่คน” แต่กระทบความน่าเชื่อถือระบบอุดมศึกษาอย่างมาก “กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” ต้องร่อนหนังสือถึงมหาลัยทั่วประเทศเร่งตรวจสอบข้อมูลนี้
หากตรวจสอบแล้วพบ “บุคลากรเกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย” ตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ม.70 ห้ามผู้ใดจ้างวานผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการใช้เสนอในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือใช้ทำผลงานขอตำแหน่ง เลื่อนวิทยฐานะ หรือได้เงินเดือนหรือเงินอื่นสูงขึ้นฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท
...
สาเหตุการซื้อผลงานวิจัยให้มีชื่อในบทความที่ตีพิมพ์นี้ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฐานะผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร ให้ข้อมูลว่า
จริงๆแล้ว “วิชาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย” ก้าวแรกอย่างน้อยต้องจบระดับปริญญาโท ทำหน้าที่สอนได้เฉพาะนักศึกษาปริญญาตรี แต่ถ้าจะสอนระดับปริญญาโท ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นพิเศษ หรือมีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์
เมื่อเข้ามาเป็นอาจารย์แล้วต้องมีเกณฑ์ประเมินทุก 6 เดือน เช่น ภาระงานทั้งหมดไม่น้อยกว่า 20 หน่วยภาระงานต่อปี (35 หน่วย ชม.ต่อสัปดาห์) มีภาระงานสอนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 9 หน่วยภาระงานต่อปี ทั้งยังมีหน้าที่ทำเอกสารการประกันคุณภาพการศึกษาหลักสูตรระดับคณะ และระดับมหาวิทยาลัย ตามลำดับ
สะท้อนให้เห็นว่า “อาจารย์มหาลัยมิได้มีหน้าที่สอนอย่างเดียว” โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องมีวิจัยตีพิมพ์ในวารสารตามเกณฑ์ ก.พ.อ.กำหนดปีละ 1 รายการ “รองศาสตราจารย์” มีวิจัยตีพิมพ์ปีละ 2 รายการ หรือเผยแพร่ระดับนานาชาติปีละ 1 รายการ “ศาสตราจารย์” มีวิจัยเผยแพร่ระดับนานาชาติปีละ 1 รายการ
สิ่งนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งการเสนอ “จัดอันดับมหาวิทยาลัย (ranking)” ทำให้สถาบันอุดมศึกษาออกนโยบายต้องการถูกจัดลำดับที่สูงขึ้น แล้วเรียกร้องอาจารย์ทำงานทางวิชาการให้มีบทความตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐาน Web of Science, Scopus, Google Scholar และ TCI ของประเทศไทยเรียกรวมว่า “h-index”
เพราะหาก “ผลงานทางวิชาการถูกตีพิมพ์มากเพียงใด” จะช่วยหนุนให้มหาลัยถูกจัดอันดับดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการตีพิมพ์ใน Web of Science และ Scopus ที่เพิ่มตัวชี้วัดในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก เช่นนี้ “มหาลัย” มักกำหนดรางวัลค่าตอบแทนให้นักวิชาการ-นักวิจัยในมหาลัยตั้งแต่ 10,000-130,000 บาท
สำหรับหลักการประเมิน “การประกันคุณภาพมหาลัย” คำนวณตามบทความตีพิมพ์ตามเกณฑ์ ก.พ.อ.กำหนดนั้น เช่น วารสารในฐานระดับชาติ 0.2-0.6 คะแนน ตีพิมพ์วารสารต่างประเทศ 0.8 คะแนน และวารสารฐาน Scopus ได้ 1 คะแนน ฉะนั้นนักวิชาการ-นักวิจัยต่างพยายามนำบทความตีพิมพ์ในฐาน Scopus ที่ได้คะแนนสูงสุด
...
ทว่าความสำคัญ “Ranking ต่อมหาลัย” ก็เป็นตัวช่วยบ่งบอกคุณภาพของมหาลัยเกี่ยวกับชื่อเสียงความน่าเชื่อถือที่มีต่อนักศึกษาตัดสินใจเลือกสถาบันการศึกษานั้น “ยิ่งมหาลัยมีอันดับสูง” จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ผ่านการศึกษามั่นใจได้ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถแน่ๆ
ยิ่งกว่านั้นยังมักได้รับความไว้วางใจจาก “หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน” ทำให้มีขีดความสามารถ โอกาสการแข่งขันแย่งชิงเม็ดเงินจากโครงการสำคัญให้นำไปทำได้ง่ายกว่ามหาลัยอื่นอีกด้วย
เรื่องนี้กลายเป็นช่องว่างกลุ่มคนหัวใส “เปิดธุรกิจการขายบทความในการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลของ Scopus” ด้วยการเสนอขายบทความแบบสำเร็จรูปพร้อมตีพิมพ์ลงวารสารนานาชาติ “ผ่านเว็บไซต์กลางแบบเปิดเผยโดยทั่วไป” เพื่อให้ผู้สนใจอยากมีผลงานทางวิชาการเข้ามาเลือกซื้อกันได้ตามความต้องการนั้น
เพราะปกติ “บทความ 1 เรื่องสามารถลงชื่อผู้จัดทำรายงานร่วมได้ 5 ชื่อ” ทำให้นักวิจัยบางคนต้องการขายบทความนั้น “นำชื่อตัวเองลงไว้ลำดับใดก็ได้” เพื่อเปิดช่องว่างให้ผู้สนใจซื้อเลือกลงชื่อได้ตามต้องการ 4 ลำดับ อันมีราคาซื้อแตกต่างกัน เช่น ลงชื่อลำดับที่ 1 เป็นผู้เขียนราคา 900 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 3 หมื่นบาท
ถัดมาชื่อลำดับที่ 2 ราคา 800 เหรียญสหรัฐฯ ชื่อลำดับที่ 3 ราคา 700 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ แล้วเมื่อนักวิชาการ-นักวิจัยไทยมีการซื้อจะนำผลงานตีพิมพ์ใน Scopus เบิกค่าดำเนินการจากมหาลัยได้ 130,000 บาท
...
ตอกย้ำต่อว่า “บทความถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Scopus” อาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังสามารถนำมาเป็นผลชี้วัดการประเมินผลงานในแต่ละปีได้อีก รวมถึงการเข้าสู่การขอตำแหน่งทางวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ และระดับศาสตราจารย์ ตามประกาศ ก.พ.อ. พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 มิ.ย.2563
อย่างเช่น “การขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์” ต้องมีงานวิจัยอย่างน้อย 10 เรื่องในฐานข้อมูล Q1 และ Q2 ของ Scopus อย่างน้อย 5 เรื่อง มีงานวิจัยอ้างอิง Scopus Citation อย่างน้อย 500 รายการ และมีค่า
H-index (Scopus) ไม่น้อยกว่า 8 เรื่อง และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกสถาบันอย่างน้อย 5 โครงการ
“นั่นหมายความว่าการตีพิมพ์บทความในฐานข้อมูล Scopus มีผลทั้งการประเมินคุณภาพจัดลำดับของมหาลัยให้สูงขึ้น ในส่วนนักวิชาการก็สามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีมานี้มีการเร่งกันผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์บทความลงในฐานข้อมูล Scopus เป็นอย่างมาก” ผศ.ดร.สิงห์ว่า
ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นต้นตอนำไปสู่ “การทุจริตซื้อผลงานวิจัยให้มีชื่ออยู่ในบทความตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการนานาชาติหรือไม่” ด้วยอาจารย์ถูกกดดันจากมหาลัย ทำการปั่น ranking เพื่อให้ถูกจัดอันดับคุณภาพที่สูง ด้วยการกำหนดการผลิตบทความลงตีพิมพ์ใน Scopus อันเป็นฐานข้อมูลระดับนานาชาติ
ถ้าดูย้อนหลังแล้ว “เรื่องการทุจริตซื้อผลงานวิจัย” เริ่มเกิดขึ้นแพร่หลายราว 4-5 ปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดโควิด-19 “อาจารย์-นักวิชาการ” ไม่สามารถทำตัวชี้วัดของตัวเองได้ “บางคนต้องหันไปซื้องานวิจัย” เพื่อรักษามาตรฐานภาระงานทางวิชาการแต่กลายเป็นสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางวิชาการไทยด้อยคุณภาพลง
...
เพราะเท่าที่ทราบนักวิชาการไทยซื้องานวิจัยลงชื่อตีพิมพ์วารสารวิชาการนานาชาติหลักพันคนต่อปี
ประการต่อมา “พฤติการณ์ซื้องานวิจัยเป็นความผิดจรรยาบรรณ” อันมีบทลงโทษแบ่งออกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีแรก “มหาวิทยาลัยของรัฐ” ถ้าบุคลากรใช้บทความคนอื่นโดยไม่ได้เขียนขึ้นเอง เพื่อทำผลงานเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ เลื่อนตำแหน่ง หรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น
ย่อมเข้าข่ายความผิดการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ “อันเป็นลักษณะการทุจริต” เพื่อเบิกเงินจากมหาลัยโดยมิชอบ แต่กรณีที่สอง “มหาวิทยาลัยเอกชน” เรื่องนี้ค่อนข้างตอบยากเพราะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของมหาลัยนั้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ที่แน่ๆการกระทำนี้ผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างชัดเจน
สุดท้ายนี้ฝากไว้แม้ Ranking จะมีข้อดีในการช่วยให้นักวิชาการพัฒนาตัวเองก้าวสู่ระดับที่ดีขึ้น แต่เมื่อเกิดช่องว่างการซื้อขายผลงานทางวิชาการเช่นนี้ “มหาวิทยาลัย” อาจต้องกลับมาทบทวนเรื่องโครงสร้าง และการตีพิมพ์งานวิจัยที่เป็นตัวชี้วัด “ขอตำแหน่งทางวิชาการ” แต่อาจใช้การสอนเกี่ยวกับการบริการทางวิชาการก็ได้
ย้ำอย่าลืมว่า “หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ พัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพ” เช่นนี้ควรหันมาโฟกัสการเรียนการสอนดีกว่ามัวแต่หมกมุ่นกับการทำ Ranking ให้มหาลัยอยู่ในระดับสูงๆ “กดดันอาจารย์ทำวิจัยจนไม่มีเวลาสอน” ท้ายที่สุดกลายเป็นเด่นทางวิชาการ...แต่นักศึกษากลับด้อยคุณภาพแทน.