เปิดภาพ "วาฬบรูด้า" สัตว์ทะเลหายาก เข้ามาหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จำนวน 3 ตัว อวดโฉมให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูป


วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายงานว่า ตามที่ นายสาธิต ตันติกฤตยา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้รับรายงานการพบ "วาฬบรูด้า" จำนวน 2 ตัว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ออกสำรวจติดตามประชากรวาฬบรูด้า ในพื้นที่อุทยานฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการจัดเก็บข้อมูลสถิติสัตว์ทะเลหายาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนต่อการดำรงชีวิต จากเรือนำเที่ยว หรือกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ

โดยสรุปความคืบหน้า ณ เวลาประมาณ 10.30 น. ของวันนี้ ได้สำรวจพบวาฬบรูด้า เข้ามาหากินในพื้นที่อุทยานฯ รวมจำนวน 3 ตัว จึงได้ตรวจสอบรายชื่อ โดยเปรียบเทียบอัตลักษณ์กับฐานข้อมูลการจำแนกประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย 2 ตัวพบว่าเป็น "แม่วันดี" กับ "เจ้าวันรุ่ง" ซึ่งเป็นลูกที่เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 และอีกตัวยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้

...


ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลในอดีตพบว่า มีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่เฉลี่ย 1-2 ตัว ต่อปี จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการประกาศปิดการท่องเที่ยว และพักแรมในพื้นที่อุทยานฯ ในช่วงปี 2563-2564 ทำให้ระบบนิเวศ และทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อุทยานฯ ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งในช่วงต้นปีจะเป็นฤดูกาลที่วาฬบรูด้าเข้ามาหากินอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ร่วม 4 ตัว คือ แม่วันดี เจ้าวันหยุด เจ้าอิ่มเอม และเจ้าเปรมปรีดิ์ และในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ร่วม 6 ตัว คือ เจ้าเปรมปรีดิ์ เจ้าสาคู เจ้าเมษา แม่สดใส และลูกชื่อเจ้าแสนดี ส่วนอีกตัวไม่ทราบชื่อ จึงเป็นที่น่าติดตามว่า จะมีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินเพิ่มเติมหรือไม่ และจะเวียนว่ายหากินอยู่ในพื้นที่นานเท่าไร ซึ่งนอกจากจะชี้วัดได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติแล้ว ยังสะท้อนให้เกิดกระแสด้านการอนุรักษ์ การดึงดูดการท่องเที่ยว จึงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมกันปฏิบัติตาม กฎ/ระเบียบ ตลอดจนข้อแนะนำของอุทยานแห่งชาติในการเดินเรือ การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยว และอื่นๆ เพื่อช่วยกันดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าของท้องทะเลอ่าวไทย ให้ยั่งยืนตลอดไป

ทั้งนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว เน้นย้ำให้ผู้บังคับเรือ และไกด์นำเที่ยวในบริเวณดังกล่าว และในเขตอุทยาน ปฏิบัติตามคำสั่ง และข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ ในการนำนักท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า ดังนี้ ดับเครื่องยนต์เรือ ไม่ควรนำเรือเข้าใกล้วาฬมากกว่ารัศมี 100 เมตร และไม่ควรเปลี่ยนทิศทาง และความเร็วเรือ ไม่แล่นเรือขวาง หรือไล่ตามวาฬ รวมถึงถ้าวาฬว่ายน้ำออกจากตำแหน่งที่มองเห็น ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ตาม งดใช้เสียงดัง หรือใช้เสียงให้น้อยที่สุด เพราะวาฬจะใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร หาอาหาร และเดินทาง หากเสียงดัง อาจจะเป็นการรบกวนการสื่อสารของวาฬได้