วันที่ 3 ก.พ. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการขยะในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ด้วยกลไกการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้แผนปฏิบัติการจังหวัดสะอาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรณรงค์เสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการ 3ช หรือ 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในทุกครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงาน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังว่าพลังของพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนและภาคีเครือข่ายจะเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เกิดการจัดการขยะอย่างถูกวิธี อันจะส่งผลทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงเรียน สำนักงาน และชุมชน ได้มีการจัดการขยะที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บและกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งร่วมกันดูแลรักษาสภาวะอากาศ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 โดยได้กำหนดแนวทางการรวมกลุ่มของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก หรือ "อถล." ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลืองานเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประชาสัมพันธ์ โครงการอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกให้พี่น้องประชาชนได้ทราบ และรับสมัครบุคคลที่มีความสนใจและสมัครใจทำงานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกระทรวงมหาดไทยด้วยการสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พร้อมทั้งแจ้งให้ทุก อปท. พิจารณาดำเนินการตามแนวทางการจัดกิจกรรมสำหรับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกซึ่งกำหนดเป็นรายไตรมาส เพื่อให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกแล้วจำนวน 7.3 ล้านคน
"อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเพื่อปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นทุกด้าน ทั้งอากาศ น้ำ ดิน ป่าไม้ การจัดการมลพิษและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ก่อให้เกิดการทำงานบนหลักการจิตอาสา เสริมสร้างจิตสำนึก ความสามัคคีและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้การขับเคลื่อนกิจกรรมของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกบังเกิดผลเป็นรูปธรรม ขยายผลเป็นวงกว้าง และเกิดพลังการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง โดยให้จังหวัด อำเภอ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดกิจกรรมสำหรับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การรักษาความสะอาด การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การกำจัดผักตบชวา การปลูกต้นไม้ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การปลูกผักสวนครัว เป็นต้น พร้อมทั้งให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกพร้อมอธิบายความหมาย บทบาทของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกให้เป็นที่รับรู้กับสังคมในชุมชน/หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดในวงกว้าง และประสานให้เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา รับสมัครอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2563 อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 อถล." นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้ ให้จังหวัด อำเภอได้เชิญชวนข้าราชการ ลูกจ้าง บุคลากรของหน่วยงานรัฐ และผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ร่วมสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ณ ภูมิลำเนาของตนเอง โดยประสานให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจารณาส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ในภาพรวมของจังหวัด ตามระเบียบฯ เช่น การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกของจังหวัด เป็นต้น และให้จังหวัด อำเภอ ดำเนินการและประสาน อปท. ดำเนินการด้านเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลงาน การดำเนินกิจกรรมของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ความก้าวหน้า และการสร้างการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น หน้าเว็บไซต์ เสียงตามสายหมู่บ้าน วิทยุชุมชน รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมสนับสนุนอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกให้ได้ประสานการทำงานในพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ อาทิ ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน ภาคประชาสังคม โดยในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เตรียมการคัดเลือกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่น ประเภทอายุ 7-15 ปี และประเภทบุคคลทั่วไป โดยให้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่น ระดับประเทศ อีกด้วย
"ขอเชิญชวนน้องๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป รวมทั้งสมาชิกในครอบครัว ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ลุง ป้า น้า อา และพี่น้องประชาชนทุกคน ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการได้ชื่อว่า เป็นอาสาสมัครดูแลรักษาและฟื้นฟูโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน ด้วยการสมัครเป็น "อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก หรือ อถล." ได้ ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ทุกบ้านมี อถล. ช่วยดูแล ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ทุกตำบล ทุกอำเภอ และทุกจังหวัด มี "อถล." ผู้มีใจรุกรบ ผู้มี passion ในการทำให้บ้านเมืองได้มีความสะอาด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยมือของพวกเราทุกคน ทำอย่างต่อเนื่องกลายเป็นนิสัย เป็นวิถีชีวิต อย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย.