หากมี “ผู้บริโภค” ร้องเรียน “โฆษณาผลิตภัณฑ์สรรพคุณเกินจริง” จนเกิดการบังคับคดี...สืบสาวข้อมูลหลักฐานผลการศึกษา งานวิจัย มิติต่างๆ แล้วพบว่าสรรพคุณ “ไม่จริง”...ไม่ดีอย่างที่กล่าวอ้าง ก็จะเข้าข่าย “ฉ้อโกง”...เป็นความผิดที่มีบทลงโทษหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา

มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่จะถูกดำเนินคดี ดารา เซเลบคนดังที่รับโฆษณาเป็นพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหานี้ก็จะโดนไปด้วย ยกตัวอย่างอดีตผู้ประกาศข่าวช่องน้อยสีในวันวานที่เคยเป็นข่าวดังมาแล้ว

ถ้าจำไม่ผิดครั้งนั้น...ผลิตภัณฑ์แนะนำโน้มน้าวผู้บริโภคว่าทานเข้าไปแล้ว เปลี่ยนรูปร่างโครงหน้าให้เล็กลง พอสืบมาจริงๆก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น...ก็ถือว่า ตัวดาราที่รับโฆษณาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายไปด้วย

“ดาราคนดังเซเลบหรือใครก็ตามที่จะรับงานโฆษณาจำเป็นต้องศึกษาผลิตภัณฑ์นั้นๆให้เป็นอย่างดี ข้อมูลสรรพคุณเป็นจริงหรือเปล่า...หรือถ้ารับแล้ว ข้อความที่ปรากฏบนโฆษณาก็จะต้องไม่ใช้คำโฆษณาเกินจริงตามที่มีประกาศออกมาเยอะมากๆ...ย้ำว่าต้องศึกษาให้กระจ่าง”

...

สิ่งที่เกิดขึ้น ที่เราๆท่านๆพบเจอโฆษณาบนโลกออนไลน์ก็มักจะเจอแต่คำต้องห้ามทั้งสิ้นมีเต็มไปหมด “โฆษณาเกินจริง” เป็นปัญหาสำคัญมากในโลกออนไลน์...จะเห็นว่าตัวดาราคนดังพรีเซนเตอร์เน็ตไอดอลที่ปรากฏถ้อยคำสื่อสารสู่ผู้บริโภคให้หลงเชื่อ เป็นมิติสะท้อนสำคัญว่า...การกำกับดูแลในประเทศไทยยังอ่อน

สำหรับบทลงโทษ มลฤดี บอกว่า ถือว่าหนักทีเดียว...โทษของแต่ละกฎหมายก็สูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย แต่พอไม่ได้มีการดำเนินคดีก็จะเสียค่าปรับอย่างเดียว...“อย่างที่เขาบอกกันนั่นแหละ เสียค่าปรับหนึ่งครั้งไม่กี่บาท แต่ไปขายอีกหนึ่งครั้งได้กำไรมากกว่า”

มลฤดี โพธิ์อินทร์
มลฤดี โพธิ์อินทร์

ลักษณะแบบนี้...คนทั่วไปก็รู้ มีหรือ? หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่รู้...เมื่อรู้แล้วก็ต้องทำให้เห็นว่า “กฎหมาย” เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจัง เอาผิดจริงๆกับผู้กระทำผิด ลองมาตั้งนับหนึ่งกันใหม่ ใคร? บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ใครจะเป็นเจ้าภาพ...จัดการโฆษณาเกินจริง ให้เด็ดขาดโดยเฉพาะในโลกออนไลน์

กฎหมายในเรื่องการโฆษณาไล่เรียงกันไปตั้งแต่...ถ้าเกี่ยวกับเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอางก็ต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะดูแลภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.เครื่องสำอาง และก็มีกระทรวงยุติธรรมเป็นกฎหมายกลางที่เจ้าหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งก็คือตำรวจ

....ที่ได้รับแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องการร้องทุกข์ การโฆษณาเกินจริงแล้วได้รับผลกระทบ ตำรวจก็จะใช้มาตราของกฎหมายยุติธรรม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จะสืบไปถึงเรื่องข้อความอันเป็นเท็จ ข้อความที่ไม่เป็นจริง ผู้บริโภค...ผู้ที่หลงซื้อ เสียทรัพย์สินไปแล้ว

กรณีถ้าตรวจสอบแล้วมีความผิดจริง ถือว่า...บุคคลนั้น คนที่ขาย เป็นการทำผิดฐานฉ้อโกงมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีเป็นบทลงโทษตาม พ.ร.บ.อาหารและยา ถ้าเป็นความผิดในเรื่องของอาหาร โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นเรื่องของโฆษณา...ย้ำว่าโทษนั้นน้อยมากๆปรับไม่เกิน 5,000 บาท

นี่ไง?โทษปรับอย่างเดียวเท่านั้น อันนี้เองเป็นที่มาของประเด็น...ทำผิดๆๆๆ แล้วก็ยอมเสี่ยงๆๆๆไปจ่ายค่าปรับเอา...ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ผ่านๆมามักเป็นเช่นนี้จนล่ำลือกันไป

...

แต่...แต่...แต่ เจ้าของผลิตภัณฑ์อย่าเพิ่งชะล่าใจ จะทำอะไรตามอำเภอใจแล้วจะรอดไปได้ง่ายๆสะดวกๆเหมือนเดิม เพราะหนทางที่จะเอาผิดยังมีอยู่อีก “ผู้บริโภค”...หรือ “ผู้ที่ร้องเรียน” ก็อย่าเพิ่งท้อ เมื่อเป็นคดีความขึ้นมาแล้ว เราสามารถที่จะไปใช้กฎหมายอื่นมาสืบความได้

ทุกคดีของผู้บริโภค ประเด็นสำคัญคือ...ผู้บริโภคเจอกับข้อความโฆษณาเกินจริง ร้องเรียนจากหน่วยงานโดยตรงแล้วก็ต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ “ตำรวจ” เอาไว้ เพราะจะเป็นผลโดยรวม มีผู้เสียหายกี่รายๆ

แล้วก็อีกหน่วยงานหนึ่งก็คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็จะเป็นเรื่องของการใช้ พ.ร.บ.กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์...การดึงข้อมูลอันที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

แต่...ผลหรือบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผู้บริโภคจะรอนาน และการระงับก็จะล่าช้ามาก เข้าใจง่ายๆว่าการที่จะระงับเฟซบุ๊ก หรือ...เว็บหนึ่งเว็บที่เราเห็นว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจากโฆษณาเกินจริง นับหนึ่งจากกระบวนการตำรวจ...สืบสวนก่อน

พอมีคำพิพากษาจากศาลแล้ว กระทรวงถึงจะสามารถปิดเว็บนั้นได้ คาดว่ากระบวนการขั้นตอนทั้งหมดจะต้องใช้เวลานานนับปี ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว...และอาจเกิดขึ้นได้มากมายแล้วเช่นกัน

...

ตอกย้ำประเด็น ดารา เซเลบ คนดัง เน็ตไอดอล...กรณีถ้าขายผลิตภัณฑ์เอง โฆษณาเกินจริงแล้วมีปัญหาก็จะโดนตั้งแต่แรกเพราะเท่ากับว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ แต่ถ้ารับจ้างโฆษณาเท่านั้นก็จะโดนในส่วนของขั้นตอนการดำเนินคดี...อยู่ในส่วนของตำรวจที่จะสืบสวนสอบสวน

หรือไม่...ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและยา หากผู้เสียหายร้องเรียนไปที่ อย. ได้ข้อมูลว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ที่จ้างดาราเซเลบคนนี้มา สินค้าไม่ได้ขึ้นทะเบียน...ขอเลขผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง แถมพ่วงโฆษณาเกินจริงและทำให้ผู้บริโภคเสียหาย อย.ก็สามารถจัดการได้เลย

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือ พ่อค้า...แม่ค้าที่รับเอาผลิตภัณฑ์ไปขายต่อทำกำไร ให้รู้เอาไว้เลยว่า...ก็มีความผิดเหมือนกัน ผิดในส่วนการขออนุญาตก็ผิดแล้ว แล้วไปขายต่อด้วยการใช้โฆษณาเกินจริงชวนเชื่อก็ผิดอีก...ถือว่าเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งเหมือนกัน โทษเท่ากันกับเจ้าของผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้แล้วก็ยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็มีการคุ้มครองเรื่องโฆษณาเกินจริงเหมือนกัน ข้อความอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...ทั้งหมดข้างต้นเหล่านี้จะเห็นว่ากฎหมายในบ้านเราที่ดูแลเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานมาก

สิ่งที่เกิดขึ้น...ทำให้ผู้บริโภคไม่น้อยเกิดความสับสนว่าใครจะบังคับในการใช้กฎหมายได้ และผู้บริโภคจะหันไปพึ่งทางไหนได้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค”...จึงมีบทบาทสำคัญเป็นเหมือนโซ่ข้อกลางเชื่อมต่อผู้เสียหายที่มาร้องเรียนประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนั้นๆ...แก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ

...

นอกจากนี้กรณีใดที่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีก็จะช่วยให้ถึงที่สุด มลฤดี บอกอีกว่า ถึงตรงนี้เราคงจะพูดถึงหน่วยงานอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องขึ้นอยู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นช่องทางการนำเสนอ “โฆษณาออนไลน์เกินจริง” ที่สร้างปัญหา กระทบผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

กลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของ “ETDA”...หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอไว้ว่า...ถ้ามีโฆษณาเกินจริงผิดอยู่ในตลาดแล้วเกิดความเสียหาย เจ้าของตลาด...ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลผู้บริโภค

ข้อเสนอที่พยายามผลักดันนี้ ถึงจะอ้างว่าเขาเป็นแค่หน้าร้านตลาดหลัก แล้วให้ไปดำเนินคดีกับร้านย่อยเล็กๆ แต่พอร้านเล็กปิดตัว...ปิดร้านหนีไปแล้วไม่สามารถติดต่อได้...เจ้าของตลาดย่อมต้องรับผิดชอบ

โฆษณาออนไลน์หลอกลวงต้มตุ๋นยังมีกลาดเกลื่อน...ขณะที่กระบวนการปราบปราม จัดการลงโทษทำได้ล่าช้า...ไม่สอดคล้อง ถึงเวลาหรือยังที่ “รัฐบาล” จะตื่นเร่งนโยบายปราบจริงจัง.