กลับมาบรรจบครบรอบสำหรับการเฉลิมฉลอง “ตรุษจีน” โดยครั้งนี้มีกำหนดตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 ม.ค. ต้อนรับปีนักษัตร “กระต่าย” หรือปีเถาะอย่างเป็นทางการ
ตรุษจีนถือเป็นเทศกาลใหญ่ คนไทยคุ้นชินกันมานานแสนนาน แม้ว่าบรรพบุรุษต้นตระกูลจะมีเชื้อสายจีนหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะมีโอกาสได้พบเห็นหรือร่วมประสบการณ์อันรื่นเริงไปด้วยกัน พร้อมท่องจำกันได้ขึ้นใจว่าวันไหนคือวันอะไร ต้องทำอะไร
บ้านเราหลักๆคือ “วันจ่าย” ซื้อของเซ่นไหว้และอื่นๆมาเตรียมไว้ ตามด้วย “วันไหว้” ขอพรรับสิริมงคล ตบด้วย “วันเที่ยว” ซึ่งตามไทม์ไลน์ของปีนี้จะตรงกับวันที่ 20-21-22 ม.ค. โดยมีเนื้อแท้ที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญคือ “การรวมญาติ” จัดกินเลี้ยงมื้อใหญ่ที่บ้านของสมาชิกครอบครัวอาวุโสสูงสุด
สำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่นั้น เทศกาลตรุษจีนจะใช้เวลายาวนานประมาณ 40 วัน ประชาชนจำนวนมหาศาลจะทยอยกันเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิด ซึ่งการโยกย้ายสัญจรในช่วงเวลานี้จะเรียกกันว่า “ชุนยุ่น” ข้อมูลสถิติของทางการจีนประเมินว่า ปี 2566 นี้ จะมีคนเดินทางสูงถึง 2,100 ล้านรอบ
...
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเซอร์ไพรส์ด้วยเช่นกันว่า ถึงแก่นแท้การรวมญาติจะเหมือนๆกัน ก็ใช่ว่ากระบวนการทางประเพณีพิธีกรรมจะเหมือนกันไปด้วย วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมทานอาหารกับเจ้าหน้าที่จีนท่านหนึ่ง ซึ่งพื้นเพเป็นคนเมืองหลวงกรุงปักกิ่งเล่าให้ฟังว่า ตรุษจีนที่ประเทศไทยไม่เหมือนกับที่บ้านเลยสักนิด
“จำครั้งแรกตอนมาเมืองไทยได้ว่าตื่นตาตื่นใจมาก ยิ่งพอได้ไปดูย่านเยาวราช ก็เกิดคำถามทันทีว่า นี่จีนจริงหรอ แต่ไม่ใช่ในความหมายแง่ลบ เพราะมันดูอลังการงานสร้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม ตอนอยู่จีนเคยได้ยินคนพูดกันว่า สีสันของประเพณีวัฒนธรรมจะอยู่ที่ภาคใต้ ไม่ใช่ภาคเหนือ ภาคเหนือค่อนข้างจะเรียบง่าย”
วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยวไม่เคยทำมาก่อน เซ่นไหว้ จุดประทัดพวกนี้ ไม่มีเลย ที่สำคัญไม่ใช่ว่าทุกคนจะใส่ชุดสีแดง แต่งตัวกันตามปกติ ส่วนชุด “กี่เพ้า” เอาจริงๆนะ ที่ภาคเหนือก็ไม่คุ้น จะเห็นก็แต่เวลาเข้าภัตตาคารร้านอาหารใหญ่ๆเท่านั้นแหละ
ได้ยินแล้วก็แอบงงอยู่เหมือนกันว่าเป็นเช่นนั้นเลยหรือ แต่ทั้งนี้มันก็สอดคล้องกับบทความหนึ่งของสำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ที่เขียนถึง “ประเพณีวันตรุษจีนที่แทบไม่ได้พบเห็นแล้วในปัจจุบัน”
ประการแรก มีตำนานจีนที่ระบุถึง “เทพเจ้าแห่งครัว” จะเดินทางเยี่ยมบ้านเรือนต่างๆ ในเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อรวบรวมข้อมูลรายงานไปยัง “จักรพรรดิหยก” บนสรวงสวรรค์ (เง็กเซียนฮ่องเต้) ว่าทุกๆคนทำอะไรกันบ้าง ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจะมีการจัดเตรียมของเซ่นไหว้เป็นของหวาน ไม่ว่าจะเป็นขนมสาลี่ ขนมทอดต่างๆ โดยหวังว่าเทพแวะมาทานแล้วจะพึงพอใจ รายงานเรื่องราวดีๆของครอบครัวกลับไปยังเบื้องบน
ประการสอง มีนิทานจีนโบราณเล่าถึง ปิศาจ “เหนียน” ที่ออกอาละวาด กินคนทำลายหมู่บ้านต่างๆในทุกปี แต่สุดท้ายแล้วชาวบ้านก็ค้นพบว่า เจ้าอสูรเหนียนนั้นมีความหวาดกลัว “สีแดง” “แสงไฟ” และ “เสียงประทัด” เวลาเจอสิ่งเหล่านี้ก็จะหนีเตลิดเปิดเปิง ด้วยเหตุนี้ประทัดจึงถูกจุดขึ้นในช่วงเวลาเที่ยงคืนสิ้นปี เพื่อขับไล่ปิศาจ และกลายมาเป็นความเชื่อว่า ยิ่งดังเท่าไรยิ่งดี ยิ่งเจริญรุ่งเรือง ซึ่งปัจจุบันนี้เมืองใหญ่ๆของจีนหรือฮ่องกงสั่งห้ามประชาชนทำการจุดประทัดกันเอง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ประการสาม มีตำนานเล่าขานว่า สองวันแรกของตรุษจีนเป็นวันเกิดของ “เทพเจ้าแห่งน้ำ” ซึ่งช่วงเวลานั้นการจะไปซักผ้าหรืออาบน้ำจะทำให้เทพเกิดความไม่พอใจ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันด้วยว่า คำว่า “ผม” ในภาษาจีนกลางและกวางตุ้งมีเสียงคล้ายกับคำว่า “รุ่งเรือง” การสระผมจึงเป็นการล้างความเจริญออกไปจากตัว
ประการสี่ ช่วงวันตรุษจีนคือเวลาที่ควรนำไม้กวาด ไม้ถูพื้นไปเก็บเสีย เพราะการเทน้ำเสีย เก็บขยะ ปัดกวาดฝุ่นออกจากบ้านจะเป็นการปัดกวาดสิริมงคล ความร่ำรวย ความโชคดีที่เข้ามาในบ้านออกไปเสียหมด ดังนั้นจึงไม่ควรทำความสะอาดบ้านแต่อย่างใดเป็นระยะเวลา 2-5 วัน และเป็นเหตุผลว่า การทำความสะอาดจึงควรจัดการให้เสร็จสิ้นก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ปัจจุบันความเชื่อนี้แทบหาได้ยากตามเมืองใหญ่ๆ จะยังปฏิบัติกันอยู่ก็เพียงในพื้นที่ “ชนบท” ตามหมู่บ้านต่างๆ
ประการห้า มีนิทานจีนโบราณเล่าว่า ในช่วงวันที่ 3 ของเทศกาลตรุษจีน “เทพเจ้าแห่งความโกรธ” จะออกเพ่นพ่านในรูปลักษณ์ของ “สุนัขสีแดงสด” ซึ่งใครก็ตามที่ได้พบพาน จะต้องประสบความโชคร้าย ดวงตก พบเจอเภทภัย นอกจากนี้ คำว่าสุนัขสีแดงสดยังคล้องจองกับคำว่า “ปากแดง” ซึ่งหมายถึงการทะเลาะเบาะแว้งกับครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายๆคนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหรือต้อนรับแขกอื่นๆที่ไม่ใช่ครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงการพบเจอกับเทพองค์นี้
...
ฟังมาทั้งหมดนี้กลายเป็นว่าประเพณีตรุษจีนในบ้านเรามีความเชื่อแบบนี้ทั้งนั้นเลย และไม่รู้สึกแปลกใจแล้วว่าทำไมความเป็นจีนในเมืองไทยถึงสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่คนจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างมากมายครับ.
วีรพจน์ อินทรพันธ์