วันเสาร์สบายๆวันนี้ตรงกับ เทศกาลตรุษจีน ตื่นเช้าขึ้นมาลูกหลานจีนก็มีการ ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญู ในวันมงคลนี้ ผมขออวยพรท่านผู้อ่าน ขอให้มีแต่ความสุข ความมั่งคั่ง ความโชคดี ความร่ำรวยตลอดปี ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ครับ

วันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยถึง “การค้าสีเขียว” ที่เป็นเมกะเทรนด์โลก ในปีกระต่ายปีนี้กันนะครับ โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากการค้าเดิมๆไปสู่การค้าสีเขียว เพื่อลดภาวะโลกร้อน ที่กำลังส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทั่วโลก เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เผชิญกับพายุถึง 9 ลูกในช่วง 3 สัปดาห์

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ได้เขียนบทความลงใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับมกราคม เรื่อง “3 ปรากฏการณ์สีเขียว ถึงเวลาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจรับปีเถาะ” ไว้อย่างน่าสนใจ ผมเลยขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็น “เมกะเทรนด์โลก” ที่มาแรงในปีนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไป เกิดปรากฏการณ์ “ผู้บริโภคหัวใจสีเขียว” สินค้าต้องรักษ์โลกถึงจะขายได้

หนึ่งในปรากฏการณ์สีเขียวที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่องคือ พฤติกรรมของผู้บริโภค เปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจาก kantar บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้ประเมินผู้บริโภคทั่วโลกพบว่า มีกลุ่ม Eco—Actives (ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 16% ของประชากรโลกในปี 2562 เป็น 22% ในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 50% หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในปี 2572

ผู้บริโภคที่มองหาสินค้า Eco—friendly มักให้ความสำคัญกับ ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมบนบรรจุภัณฑ์ เช่น สามารถรีไซเคิลได้ปริมาณการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภค Eco–Actives สร้างมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงถึง 446,000 ล้านดอลลาร์ ราว 15 ล้านล้านบาท การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่เส้นทางสีเขียว จะเป็นอีกแต้มต่อในการเจาะตลาดผู้บริโภคหัวใจสีเขียวที่กำลังเติบโต

...

อีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่จะส่งผลกระทบต่อ การค้าระหว่างประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปรากฏการณ์มาตรการสีเขียว หรือ มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากองค์การค้าโลกระบุว่า มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ณ สิ้นปี 2564 มีถึง 17,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นราว 6 เท่าจากปี 2554 ประเทศที่ออกมาตรการจำนวนมาก มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน บราซิล

(1 ตุลาคม 2566 สหภาพยุโรป จะประกาศใช้มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM เพื่อบังคับให้ประเทศนอกอียูต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่ากับอียู ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จะต้องซื้อใบรับรอง CBAM เพื่อชำระส่วนต่างราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิตสินค้ากับราคาคาร์บอนในอียู ซึ่งจะส่งผลให้ สินค้าไทยมีราคานำเข้าสูงขึ้น ความสามารถการแข่งขันลดลง ประเทศไทยวันนี้ยังไม่มีกฎหมายซื้อขายคาร์บอน มีแต่การซื้อขายแบบสมัครใจ จะได้รับผลกระทบแน่นอน)

ปรากฏการณ์สีเขียวสุดท้ายที่กำลังมาแรง และทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในตลาดเงินโลกก็คือ ปรากฏการณ์กลไกทางการเงินสีเขียว หรือ Green Finance ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รายงานของ TheCityUK ระบุว่า ปี 2564 ตลาด Green Finance ทั่วโลก มีมูลค่า 540,600 ล้านดอลลาร์ ราว 18 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 4% ของมูลค่าตลาดการเงินโลก เช่น Green Bond, Green Loan, Green Equity เป็นต้น

การค้าโลกวันนี้กำลังเปลี่ยนเป็น การค้าสีเขียว การเงินสีเขียว ไปแล้ว ถ้ารัฐบาลไทยยังคิดช้าทำช้าและไม่ทำ ปลายปีนี้สินค้าไทยส่งออกไปตลาดยุโรปลำบากแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”