วันที่ 20 ม.ค. 66 เวลา 10:00 น. ที่วัดศรีบุญเรือง บ้านคำบง ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อนุสรณ์ ชาตสถาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยได้รับเมตตาจาก พระพรหมวชิรโสภณ เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง เป็นประธานสงฆ์ พระราชพัชรมานิต วิ. เจ้าอาวาสวัดบุญญาวาส เป็นรองประธานสงฆ์ มีพระเถรานุเถระประกอบพิธี อาทิ พระครูสุทธาจารวัตร เจ้าคณะอำเภอศรีเมืองใหม่-โขงเจียม (ธ) พระอาจารย์ทองปาน จารุวัณโณ เจ้าอาวาสวัดป่าภูตะคาม จ.สกลนคร พระครูสุนทรวินัยคุณ เจ้าอาวาสวัดภูหล่น พระครูธรรมญาณทิพรัตน์ เจ้าคณะอำเภอโพนนาแก้ว-กุดบาก (ธ) พระครูบรรหารอุบลคุณ เจ้าคณะตำบลพิบูล (ธ) พระภาวนาวัชราจารย์ วิ. เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ พระครูปัญญาวโรบล เจ้าอาวาสวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยมี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ นายสุรพล เศวตเศรนี ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ พลตรี อัครพนธ์ มูลประดับ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 อาจารย์เดชา สายสมบูรณ์ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 150 ปี ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย และพุทธศาสนิกชนกว่า 1,000 คน ร่วมพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เจ้าหน้าที่พิธีนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์สวดพระปริตร ผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องไทยธรรม จบแล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระราชพัชรมานิต วิ. ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพรหมวชิรโสภณ สัมโมทนียกถา พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ผู้ร่วมพิธีกรวดน้ำ รับพร เสร็จแล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกาศอริยบูชา ตามแนวทางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นอันเสร็จพิธี
พระพรหมวชิรโสภณ กล่าวสัมโมทนียกถา ใจความโดยสังเขปว่า วันนี้เป็นวันมหาบุญ มหากุศล มหามงคลอันยิ่งใหญ่ นับว่าท่านทั้งหลายได้ร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหลาน แก่บ้านเมือง แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามรอยธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นพระมหาเถระที่มีคุณธรรม คุณภาพ คุณประโยชน์ ได้อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เป็นเพชรเม็ดงามส่องแสงระยิบระยับอยู่ทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ นับว่าท่านได้ทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ต่อประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ กระทั่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ทราบเกียรติคุณของท่าน จึงได้ถวายการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกแด่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจของศิษยานุศิษย์ พี่น้องชาวไทยทุกหมู่เหล่า อันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
"ศิษยานุศิษย์ได้ร่วมรำลึกถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้บำเพ็ญคุณงามความดี ด้วย "กตัญญูกตเวทิตา" กตัญญู แปลว่า การรู้คุณ กตเวที แปลว่า การตอบสนองพระคุณ การรู้คุณตอบแทนคุณจึงเป็นเครื่องหมายของคนดี ประเทศไทย พระพุทธศาสนา และสังคมไทยของเราเจริญรุ่งเรืองมาได้ก็เพราะ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" ลูกๆ กตัญญูต่อพ่อแม่ ด้วยจิตสำนึกว่าพ่อแม่สอนให้ลูกจำ ทำให้ลูกดู อยู่ให้ลูกเห็น เปลี่ยนให้ลูกได้สัมผัส เป็นฉัตรให้ได้ป้องกันภัย ลูกๆ ต้องสำนึกคุณของบิดามารดา เป็นศิษยานุศิษย์ก็ต้องรำลึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคุณและจริยสมบัติให้เราได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ครูบาอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง "ทุกคนต้องมีครู" เพื่อเป็นหลักชัยของชีวิต นอกจากนี้ พสกนิกรทุกหมู่เหล่าต้องสำนึกในสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่ ทำให้สังคมไทยอยู่มาได้ทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักปราชญ์เหนือปราชญ์ ทรงเป็นบัณฑิตเหนือบัณฑิต ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีโครงการตามแนวพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าสมเด็จพระบรมราชบิดาได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองครอบคลุมทุกกระทรวง ทบวง กรม กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย สร้างความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงให้กับประเทศชาติบ้านเมือง จึงมีพระบรมราชโองการว่า เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป โดยทรงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่อยอดเป็นโคก หนอง นา ทำให้ประเทศไทยของเรามีความมั่นคง คนไทยมีความก้าวหน้าในการดำรงชีวิต สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่ที่พี่น้องชาวไทยทุกหมู่เหล่าต้องร่วมกันแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ และพวกเราทุกคนในฐานะพุทธบริษัททุกหมู่เหล่าสำนึกในพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นดวงประทีปของชาวโลกในการให้แสงธรรมะกระจายเข้าไปสู่หัวใจของมวลมนุษยชาติ ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงให้เป็นแนวทาง "อย่า 1 จง 2" อย่าหนึ่ง คือ อย่าทำความชั่ว จง 2 คือ จงทำความดี และจงทำใจของเราให้ผ่องใส อันยังผลทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมั่นคงก้าวหน้ามากระทั่งปัจจุบัน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า "กตัญญูกตเวที" เป็นหลักธรรมสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ พระศาสนา และสังคมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน" พระพรหมวชิรโสภณ กล่าวในช่วงท้าย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โดยที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ในวาระปี 2563-2564 ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นถิ่นกำเนิดของบูรพาจารย์ในสายวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะ "หลวงปูมั่น ภูริทัตโต" ซึ่งมีชาติภูมิสถาน ณ บ้านเลขที่ 1 บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี และเคยบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีบุญเรือง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์ ชาตสถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
"ในโอกาสครบรอบ 153 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้สร้างพระอริยสงฆ์ และเผยแพร่หลักคำสอนปฐมวิปัสสนาจนเป็นที่รู้จักและปฏิบัติเป็นอริยหรือมงคลอันประเสริฐ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันปฏิบัติอริยบูชาเพื่อถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ใช้เป็นแนวทางในการเชื่อมโยงอริยธรรม นำสู่ชีวิตของบ้าน วัด และราชการ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบสานตามหลักการ 3 อริยะ ได้แก่ 1) อริยะบูชา คือ การบูชาอันประเสริฐแก่ครูบาอาจารย์ พระอริยสงฆ์ สถานที่อันเกี่ยวเนื่อง ตลอดจนบูชาอย่างกตัญญูรู้คุณ ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) อริยะวิถี คือ การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างโอกาสให้คนร่วมทำบุญ เป็นผู้ให้ เช่น การทำบุญตักบาตร การร่วมกันพัฒนาจิตใจ สังคม และชุมชน ให้เจริญงอกงาม โดยมีแบบอย่างที่ หลวงปู่มั่นสร้างอริยประเพณีให้แก่หมู่บ้านหนองผือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดภูริทัตตถิราวาส อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จังหวัดสกลนคร อาจสนับสนุนให้ทุกๆ อำเภอมีถนนแห่งสายธรรมที่คนในชุมชนมาร่วมกันใส่บาตร เพื่อปักหมุดอริยะวิถี โดยค่อยๆ สร้างเครือข่ายญาติธรรมออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านการจัดกิจกรรม และ 3) อริยธรรม คือ การรวบรวมและเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำเสียงธรรม และแสงธรรม นำพาศีล สมาธิ ปัญญา สู่ผู้คนทุกเพศทุกวัย เพื่อปฏิบัติตนและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนและติเตียนกัน เสริมสร้างสังคมที่ดีและมีอริยะ สุดท้ายนี้ ขอให้จังหวัดอุบลราชธานี และทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำปรัชญาธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลักการ 3 อริยะ ขยายผลต่อไปยังชุมชน และหมู่บ้าน เพื่อให้ทุกคนมีธรรมอันเป็นพื้นฐานชีวิต คือ "ศีล 5" สร้างพื้นฐานจิตใจให้ดี เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีและพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย