กสศ.เปิดเวทีพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน พบ 3 ทักษะพื้นฐานจำเป็น ทำงานโลกยุคใหม่ แนะเพิ่มการลงทุนพัฒนาทักษะอ่านเขียน ดิจิทัล ทักษะทางอารมณ์สังคม ผ่านหลักสูตรพัฒนาอาชีพ นำประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง 

วันที่ 20 ม.ค. 66 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัด ‘เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’ วางเป้าหมายพัฒนาทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ เพื่อปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษา

มี ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมด้วย เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. และผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย Mr. Koji Miyamoto, Senior Economist for Global Practice, World Bank ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยตัวแทนสื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปร่วมรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์

...

ดร.ไกรยส กล่าวว่า เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ ‘ปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษา’ ผ่านการพัฒนา ‘ทักษะพื้นฐานของการทำงานในโลกยุคใหม่’ วางเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้พร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 โดยจะทำการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย เพื่อร่วมกันหาแนวทางการยกระดับทักษะแรงงาน และการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในโลกยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน พาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเพื่อให้แรงงานในประเทศไทยได้รับการพัฒนากลายเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร ยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่น และลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ

ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาของเด็กเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติโควิดด-19 ซึ่งมีประเด็นสำคัญประการแรกคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่หากไม่แก้ไขจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่ม NEET (Youth not in education, employment, or training) ซึ่งหมายถึงเยาวชนวัย 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรมพัฒนาใด ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า เราจำเป็นต้องค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่การพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในหรือนอกระบบการทำงาน หรือการพัฒนาตนเองตามแนวทางที่เหมาะสม เพราะผลสำรวจระบุว่าปี 2562 ประเทศไทยมี NEET มากถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราว 10% ของประชากรฐานภาษี และคิดเป็น 14% ของเยาวชนไทย นอกจากนี้กลุ่ม NEET ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1% ซึ่งสวนทางกับอัตราลดลงของเยาวชนไทยเฉลี่ย 1.2% ในทศวรรษที่ผ่านมา โดยร้อยละ 65 ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง มีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญ จากสถิติพบว่าร้อยละ 8 ของกลุ่ม NEET คือเพศหญิงทำงานบ้าน กว่าครึ่งมีสถานภาพสมรสและสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยม

...



“ยูเนสโกประมาณการว่า หากไม่มีการนำเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของไทยหลังโควิด-19 ยังคงมีแนวโน้มแย่ลงในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายโดยตรงกับโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เราไม่สามารถปล่อยให้เยาวชนแม้สักคนหลุดไปจากการพัฒนาได้อีกแล้ว การที่เราต้องหาทางช่วยเขาในวันนี้ เพื่อความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของสังคมไทยในอนาคต”

ผลสำรวจยังสะท้อนถึงปัญหาคุณภาพประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสว่า ประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า มีจำนวนมากกว่า 16.1 ล้านคน โดยแม้ในประชากรรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

...

“แรงงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาจากแรงงานไร้ฝีมือไปสู่การเป็นแรงงานฝีมือดี ซึ่งเป็นการลงทุนของประเทศที่คุ้มค่า เพราะเยาวชนหรือประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-25 ปีกลุ่มนี้ เขาจะอยู่ในตลาดแรงงานไปอีกอย่างน้อย 30 ปี หรือมากกว่านั้น ถ้าเราลงทุนกับกลุ่มเป้าหมายตอนนี้ โอกาสที่ดอกผลจะคืนกลับมาที่ตัวของเขาและสังคมไทยจะยิ่งมีมากขึ้นในวันข้างหน้า การจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้เราสามารถ Upskill Reskill โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม เทคโนโลยี มีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับพัฒนาการของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำให้กำลังแรงงานไทยต้องทบทวนว่าจะมีขีดความสามารถแข่งขันได้อย่างไร ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า จากโจทย์ปัญหาดังกล่าว กสศ. ได้ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคนโยบายจาก กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทย ให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ผ่าน ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย’ (Adult Skills Assessment in Thailand) ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งแรกในเยาวชนและประชากรวัยแรงงานวัย 15-64 ปี เพื่อพัฒนาการสำรวจและประเมินทักษะในการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงทักษะด้านอารมณ์สังคม และเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบาย วางกลยุทธ์พัฒนาและยกระดับทักษะให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน

...

โดยการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน โดยธนาคารโลก มีผลการดำเนินงานสำคัญ 4 ด้าน คือ

1.พัฒนาเครื่องมือ แบบประเมินด้านทักษะการอ่าน ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Socio-Emotional Skills) ทักษะดิจิทัล และแบบสอบถามชุดข้อมูลพื้นฐาน
2.ขับเคลื่อนผ่านเวทีนโยบาย เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กสศ. ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน
3.สำรวจและประเมินจากกลุ่มตัวอย่างคลอบคลุมทุกภูมิภาค
4.นำข้อเสนอในการประชุมทุกเวทีสู่การสรุปผลเบื้องต้น เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ร่วมกับหน่วยงานภาคนโยบาย ภาคการศึกษา ภาคแรงงาน และภาคท้องถิ่น

Mr. Koji Miyamoto, Senior Economist for Global Practice, World Bank กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีดำรงชีวิตและรูปแบบการทำงาน ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั้งพลังงานและอาหารมีการขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างออกไปอีกระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท อย่างไรก็ตามบนความเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ไม่ได้ การพัฒนาแรงงานของประเทศต้องให้ความสำคัญเรื่องความเสี่ยงและโอกาส ด้วยนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ทำให้คนเข้าถึงโอกาส มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ (Foundational Skill) แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.Riteracy Skill ความสามารถอ่านเขียน 2.Digital Skill ความสามารถในการเข้าใจและจัดการข้อมูล ICT และ 3.Socio-Emotional Skill ทักษะทางอารมณ์สังคม

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ทักษะพื้นฐานของแรงงานจะยังไม่อยู่ในมาตรฐานที่คาดหวัง ทั้งนี้การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงานไม่ได้เติมเต็มทักษะพื้นฐานเท่าที่ควร หลักสูตรการพัฒนาอาชีพต้องให้ความสำคัญกับทักษะขั้นพื้นฐาน หมายถึงการที่ประเทศจะลงทุนกับอะไรก็ตาม ต้องเริ่มที่ทักษะพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้น เพราะการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าลงทุนกับทักษะอาชีพเป็นมูลค่าสูง แต่ถ้าทักษะพื้นฐานยังไม่ได้รับการเติมเต็ม การลงทุนนั้นก็อาจยังไม่ได้ผลลัพธ์กลับมาที่คุ้มค่าเท่าที่ควร หรือได้ผลน้อยกว่าที่คาดไว้

“ทักษะขั้นพื้นฐานไม่ได้สำคัญกับการจ้างงานเฉพาะสายอาชีพ แต่งานทุกรูปแบบจำเป็นต้องใช้ เพราะฉะนั้นในขั้นนโยบายจึงต้องให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานตั้งแต่ขั้นปฐมวัยอย่างครอบคลุม เป็น Learning for All และทำโดยเร็ว เพราะว่าทักษะพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสะสมและมีความเฉพาะตัว ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ก็จะมีมากขึ้น”

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ทักษะขั้นพื้นฐานคือกลไกการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ทักษะอื่นที่สูงขึ้น กล่าวคือถ้าประชากรมีทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นลำดับขั้น ท้ายที่สุดทักษะด้านอื่นๆ ของแรงงานจะพัฒนาขึ้นตามกัน และจะช่วยให้มีฝีมือที่ดีขึ้น นำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา

ดร.สมชัย กล่าวว่า Socio-Emotional Skill หรือทักษะทางอารมณ์และสังคมต่อกระบวนการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่คนในสังคมยังพูดถึงค่อนข้างน้อย ทั้งที่ความสามารถในการปรับตัวมีความสำคัญมาก ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นเราต้องทำให้แรงงานมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว สิ่งที่ในขั้นนโยบายควรตั้งเป้าคือ คนไทยทุกคน