นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.66 เป็นต้นไป รฟท. จะย้ายการให้บริการขบวนรถไฟทางไกลทั้ง สายเหนือ สายอีสาน และสายใต้ รวมกว่า 52 ขบวน มาเปิดให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งนี้การย้ายดังกล่าวเนื่องจากรัฐบาลได้สร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ขึ้น ใช้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อใช้ให้ประสิทธิภาพ จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงเพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพง และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร บริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ขบวนรถไฟธรรมดา รถไฟชานเมือง และขบวนรถไฟนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน จะยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม

“ขณะนี้ให้ รฟท. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปสำรวจความพึงพอใจการให้บริการ ทั้งที่สถานีกลางบางซื่อ และการให้บริการรถชัทเตอร์บัสรอบสถานี เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์การให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การให้บริการเน้นย้ำการขนถ่ายสัมภาระให้เตรียมพร้อมบริการประชาชนอย่างสะดวก เช่น รถเข็น หรือจุดรับฝากสัมภาระ และสิ่งอำนวยความสะดวกประชาชน ทั้งร้านอาหารเครื่องดื่มให้พร้อม ในระหว่างที่ดำเนินการประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน รฟท. ต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้ใช้บริการรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่ รฟท. ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกช่องทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการที่ดีขึ้นและมีคุณภาพ”

ทั้งนี้ในการเปิดให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ บริเวณประตู 4 ชั้น 2 จำนวน 8 ชานชาลา รวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน โดยในวันนี้ (19 มกราคม 2566) มีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 27 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออก จำนวน 10 ขบวน ขาเข้า จำนวน 7 ขบวน และรถไฟสายใต้ ขาเข้า จำนวน 1 ขบวน ขาออก จำนวน 9 ขบวน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังได้คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวัน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความถี่ทุกๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศผ่านระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการดำเนินงานในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาว

สำหรับผู้ที่จะมาใช้บริการรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือทุกขบวน ได้ปรับมาใช้การเดินรถบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จนถึงสถานีดอนเมือง โดยยกเลิกการให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารป้ายหยุดรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 ซึ่งผู้ใช้บริการขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุบนตั๋วโดยสาร ส่วนขบวนรถไฟธรรมดา รถไฟชานเมือง และขบวนรถไหนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม

ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมือง ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองให้สามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วยการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และในอนาคตเตรียมเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้ รฟท. ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอย่างบูรณาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยแผนล่าสุดทาง รฟท. และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ เอสอาร์ทีเอ ซึ่งเป็นบริษัทลูก รฟท. เพื่อบริหารสินทรัพย์ รฟท. อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 66 ซึ่งตามแผนจะนำพื้นที่แปลงเอ และแปลงอี นำมาเปิดประมูลก่อน

สำหรับการพัฒนาเป็นจุดเชื่อมต่อขบวนรถไฟทางไกล และรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายและการคมนาคมบริเวณพื้นที่รังสิตเป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม