เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้ออกมาเปิดเผยการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิใน การเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. ไปสิ้นสุดในเวลา 11.36 น. ใช้เวลาการประมูลไปทั้งสิ้นเพียง 1 ชั่วโมงกับ 36 นาทีเท่านั้น

โดยมีคำอธิบายจาก ประธาน กสทช. ว่า การเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมมี ผู้เสนอราคามา 3 ชุด จาก 5 ชุด คือชุดที่ 2, 3, 4 ส่วนชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้เสนอราคา มูลค่ารวม 806,502,650 บาท ผู้เข้าประมูลทั้ง 3 รายประกอบด้วย สเปซ เทค อินโนเวชั่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส ที่มาที่ไปของทั้ง 3 บริษัทเอาไว้ว่ากันอีกที

ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจร ดาวเทียม ลักษณะจัดชุด 3 ชุดนั้น ชุดที่ 2 ผู้ชนะการประมูลคือ สเปซ เทค ที่ราคา 380,017,850 บาท จากราคากลาง 360,017,000 บาท ชุดที่ 3 ผู้ชนะการประมูล ก็เป็น สเปซ เทค ที่ราคา 417,408,600 บาท จากราคากลาง 397,532,000 บาท และชุดที่ 4 ผู้ชนะการประมูล คือ เอ็นที ที่ราคา 9,076,200 บาท จากราคากลาง 8,644,000 บาท ซึ่งขั้นตอนต่อไปบอร์ด กสทช. จะรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน โดยผู้ชนะการประมูลจะชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกที่ 10% ของราคาประมูลภายใน 90 วัน ชำระงวดที่ 2 จำนวน 40% ภายใน 4 ปี และงวดที่ 3 ชำระ 50% ภายใน 6 ปี ทั้งนี้ใบอนุญาตการเข้าใช้วงโคจรจะมีอายุ 20 ปี

ที่มีการตั้งข้อสังเกตก็คือ การจัดเป็นชุดการประมูล โดยที่การประมูลในครั้งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนตามที่คาดเอาไว้ และมีชุดการประมูลชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูล ชุดที่ 1 เป็นพื้นที่ให้บริการย่านมหาสมุทรแอตแลนติก, ทวีปเอเชีย, ทวีปยุโรป, ทวีปแอฟริกาทำตลาดในประเทศอาหรับและตะวันออกกลางและชุดที่ 5 เป็นพื้นที่บริการ ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เป็นดาวเทียมทั่วไป ยกเว้นในโซนที่ 3 ที่เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์

...

ถ้าจะสรุปโดยย่อๆจากการให้สัมภาษณ์ของ ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยคม ถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ ไทยคม ที่มีดาวเทียมให้บริการอยู่ 2 ดวงคือ ไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นการให้บริการด้านเทเลคอมภายใต้ C-Band ส่วนไทยคม 4 และไทยคม 6 ได้ส่งมอบให้ กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อส่งต่อให้ เอ็นที เป็นผู้รับผิดชอบไปแล้ว ทั้งนี้ ไทยคมมีกำไรในไตรมาสที่ 2 ของปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 338 ล้านบาท จากที่เคยขาดทุน 106 ล้านบาทในปีก่อนหน้านั้น

เป้าหมายคือ ไทยคมต้องการขยายสโคปธุรกิจ จากผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซเทค คัมปานี ภายใน 5 ปี บนพื้นฐานของธุรกิจใหม่ ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ และนิว สเปซ อีโคโนมี ในการหาประโยชน์จากการใช้ดาวเทียมในอวกาศ ทำให้เกิด บิ๊กดาต้า ที่นำมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่ต้องหาคำตอบต่อไป ดาวเทียมจะเป็นธุรกิจที่สร้างอนาคต ให้กับธุรกิจใหม่ๆ หรือเป็นแค่การประคับประคองผู้ประกอบธุรกิจเดิมๆให้อยู่รอดต่อไป ตายแล้วหรือเกิดใหม่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th