นับวันแนวโน้ม “สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ” จะถูกทำลายส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพต้องเผชิญ “วิกฤติสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์” สอดรับการขาดแคลนอาหารอันเป็นปัญหาตามมาในอนาคต
กระทั่งไม่นานมานี้ Thai Climate Justice for All ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร และศูนย์มานุษย วิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) “จัดการประเมินสถานการณ์นิเวศสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารปี 65 และทิศทางปีหน้า พร้อมข้อเสนอนโยบายสำหรับรัฐบาล”
อันเกิดจากมุมมองนักขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและนักวิชาการทำงานกับประชาชนในแต่ละด้าน สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมปี 2565 เกิดจากรากเหง้าปัญหาใด แล้วในปี 2566 ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอะไรกันบ้าง?นั้น วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถีหรือ BIOTHAI กล่าวในหัวข้อความมั่นคงทางอาหารและนิเวศเกษตรว่า
ตามหลักความมั่นคงทางอาหารนั้น “ทุกคนต้องมีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย โภชนาการครบถ้วน” ควบคู่กับคำนิยาม “อธิปไตยทางอาหาร” อันเป็นสิทธิผู้ที่เกี่ยวกับระบบอาหารมีอำนาจจัดการฐานทรัพยากร การพัฒนาการผลิต การกระจายอาหาร และการบริโภค สิ่งสำคัญประชาชนต้องมีส่วนร่วมออกนโยบายที่เกี่ยวข้องด้วย
...
ประการต่อมา “อาหารมักอยู่ภายใต้ระบบนิเวศเกษตร” ในการผลิตอาหารให้ยั่งยืนนั้นต้องมีความสัมพันธ์กับ “สิ่งแวดล้อมที่หลากหลายทางชีวภาพ และมีความสัมพันธ์ทางสังคม” หากย้อนไปช่วง 6-7 ทศวรรษที่ผ่านมา “เป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม” มักยืนบนพื้นฐานที่อาหารไม่มั่นคงอย่างยิ่ง
ปัจจุบันนี้ “องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)” ประเมินพันธุ์พืชที่ใช้มีเพียง 10% เท่านั้นจากเคยใช้เมื่อ 100 ปีก่อน ส่วนที่สูญหายเกิดจากการขยายเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว “พันธุ์สัตว์” ก็เหลือแค่ครึ่งเดียวเพราะอุตสาหกรรมการเกษตรพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้บทบาทการผลักดันของบรรษัทขนาดใหญ่ทั้งหลาย
ทำให้เกิดปัญหาการควบคุมพันธุกรรมสัตว์ และพันธุ์พืชที่ใช้ผลิตอาหาร สังเกตปัจจุบันตลาดเมล็ดพันธุ์ 75% อยู่ในมือ 8 บริษัท ทั้ง 99% ของสายพันธุ์ไก่เนื้อถูกครองโดย 4 บริษัท และมีบริษัท 3 แห่ง ครองสายพันธุ์ไก่ไข่เกือบ 100% แล้วช่วงการระบาดไข้หวัดนก และอหิวาต์แอฟริกาหมู ทำให้เนื้อสัตว์หายออกจากตลาดจำนวนมาก
ผลที่ตามมา “ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะการผูกขาดสายพันธุกรรมนี้” ทั้งที่ฐานการผลิตสายพันธุ์สัตว์อยู่ในเอเชีย “โดยเฉพาะสายพันธุ์ไก่บ้านแหล่งกำเนิดเก่าแก่ที่สุดอยู่ใน จ.นครราชสีมา” แม้แต่ “สหรัฐอเมริกา” ก็นำไปใช้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุกรรมกระจายไปทั่วโลก แต่คนไทยกลับพึ่งพาไม่กี่บริษัทนี้
หนำซ้ำความถดถอยของเกษตรกรรมในระบบการผลิตอาหารนี้ “USDA สหรัฐอเมริกา” เคยวิจัยประเมินพบว่า “คุณค่าทางโภชนาการของพันธุ์พืชที่ใช้ผลิตอาหาร” ตั้งแต่ปี 1950 ถึงปัจจุบันนั้น “คุณค่าของผักผลไม้ 43 ชนิดลดลงทั้งสิ้น” เช่น วิตามินเอ ลดลง 18% วิตามีนบี 2 ลด 38% วิตามินซี 15% เหล็ก 15% แคลเซียม 16%
สะท้อนว่าระบบการผลิตในปัจจุบัน “ทำลายคุณค่าอาหาร” ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุกรรมให้เหลืออยู่ไม่กี่ชนิดเพื่อเน้นผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น แล้วงานวิจัยที่น่าสนใจจาก “ม.วอชิงตัน ร่วมกับ ม.ปักกิ่ง” ท่ามกลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนอย่างกรณี “ข้าว” ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
...
อันมีผลต่อคุณค่าสารอาหารในธัญพืชถดถอยลดลง ทั้งวิตามินบี 9 วิตามินบี 5 วิตามินบี 2 วิตามินบี 1 สังกะสี เหล็ก และโปรตีนประมาณ 5-30% อันเป็นผลระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศเกษตร และสิ่งแวดล้อมนี้
ถ้าพูดถึงวิกฤติอาหารปี 2022 มีจุดเริ่มต้นจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยส่งผลต่อกำลังซื้อของคนในการเข้าถึงอาหารนั้น หากเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 1917 ครั้งนี้เป็นวิกฤติใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกมาแล้ว “องค์การสหประชาชาติ” ก็ประเมินสาเหตุที่จะทำให้เกิดวิกฤติอาหารร้ายแรงยิ่งขึ้นที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น
มีสาเหตุ 3 เรื่องคือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ 2.เศรษฐกิจ 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ เม.ย.2564-เม.ย.2565 อาหารแพงขึ้นมาก เช่น น้ำมันพืชเพิ่ม 59% จาก กก.ละ 34 บาทเป็น 55.4 บาท ไข่ไก่ขึ้น 50% ขายฟองละ 2.5 บาทเป็น 3.5 บาท ไก่เนื้อขึ้น 27% กก.ละ 33 บาทเป็น 42 บาท เนื้อหมู 20% กก.ละ 80 บาทเป็น 94-98 บาท
ในห้วงวิกฤตินี้ทำให้ “ผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ในเมือง” ค่อนข้างรับผลกระทบอย่างมาก “ข้อมูลสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่ได้สำรวจพบ 30% แทบไม่มีเงินที่จะซื้ออาหารรับประทานด้วยซ้ำ
...
เรื่องสำคัญ “วิกฤติอาหารในสังคมไทย” มักเกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ และผูกขาดรวมศูนย์เสมอ ในอดีต “กรุงเทพฯเคยเป็นเมืองหลวงแห่งอาหารดีราคาถูก” ปัจจุบันกลายเป็นมหานครที่อาหารแพงที่สุด
บางคนมองว่า “วิกฤติอาหารโลกดีกับประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม” แต่ที่จริงแล้ว 80% เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์เพราะผลผลิตการเกษตรตกต่ำสวนทางราคาปุ๋ยสูงขึ้นเท่าตัว กลายเป็นต้องซื้ออาหารแพงขึ้นเบื้องหลังปัญหาก็มาจาก “การเก็งกำไรอาหาร” เป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤติอันเลวร้ายมากที่สุด ตามข้อมูลผลผลิตการเกษตรตั้งแต่ปี 2004-2022 “ยอดผลผลิตการเกษตรเพิ่มสูงอย่างมากแต่ราคากลับแพงขึ้นเรื่อยๆ” สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติอาหารคราวนี้มีกลุ่มผู้ได้ประโยชน์เก็งกำไร และผูกขาดกลไกตลาดอยู่นั่นเอง
ประเด็นวิกฤติอาหารในปี 2023 “ประเทศไทย” ต้องเผชิญเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก...“การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ที่นำไปสู่การผูกขาดพันธุ์พืชกระทบต่อเกษตรกรแน่นอน คือ “เขตการค้าเสรี (FTA)” กำลังรอการเจรจา 4 เรื่อง เช่น 1.CPTPP 2.FTAไทย-อียู 3.FTA ไทย-อังกฤษ 4.FTA ไทย-องค์การค้าแห่งยุโรป
ทั้งหมดล้วนส่อเค้าละเมิดสิทธิเกษตรกร “ภายใต้ UPOV1991” ตั้งแต่จำกัดการเก็บพันธุ์พืชปลูกต่อ หรือการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างเกษตรกร แม้แต่ในรายงาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP สภา ส.ส.ก็ยืนยันผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นแก่เกษตรกรรายย่อย และเกษตรกรระดับกลางอย่างแน่นอน
เรื่องต่อมาคือ “ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ BCG” โดย ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวปี 2564-2570 ตั้งข้อสังเกตการซ่อนผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอันจะกระทบต่อระบบนิเวศทางการเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร 4 เรื่องใหญ่ คือ...
...
ข้อ 1.บรรษัทข้ามชาติ-บริษัทยักษ์ใหญ่ เตรียมแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้สิทธิผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยไม่แบ่งปันผลประโยชน์
ข้อ 2.BCG เตรียมการอนุญาตปลูกพืชจีเอ็มโอ
ข้อ 3.ผลักดันให้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล อันจะเป็นการกระตุ้นให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเกษตรกรจะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ
ข้อ.4 การส่งเสริมบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติปลูกป่าในพื้นที่รัฐ 3.2 ล้านไร่ ซึ่งมีเป้าหมายจริง 16 ล้านไร่ “เบื้องต้นมีเอกชนจับจองแล้ว 1 ล้านไร่” ทำให้มีคำถามว่าประชาชนอาศัยในพื้นที่จะอยู่อย่างไร...? ด้วยสิ่งนี้ถูกเตรียมการปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอนเป็นศูนย์แต่ประชาชนกลับไม่มีที่อยู่อาศัยใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรเลย
สุดท้าย “มีข้อเสนอเรื่องความมั่นคงทางอาหารในปี 2023” อันจะมีอยู่ 4 เรื่อง คือ 1.พรรคการเมืองที่เสนอตัวต่อการเลือกตั้งต้องประกาศจุดยืนว่า เห็นด้วยกับการให้พื้นที่ของรัฐ 16 ล้านไร่ เพื่อให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่นำไปปลูกป่าหรือไม่ หรือจะส่งเสริมให้โฉนดที่ดินสามารถทำกิจกรรมที่ยั่งยืน
2.การเจรจา FTA เดินหน้าได้แต่ต้องปฏิเสธUPOV1991
3. ต้องระบุสิทธิเรื่องอาหารไว้ใน รธน.อย่างน้อยที่สุดเมื่อไม่มีอาหารก็เป็นหน้าที่ของรัฐต้องทำให้คนไทยเข้าถึงอาหารในฐานะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
4.ความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวภูมิทัศน์ของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวใหม่
เพื่อมุ่งไปสู่เรื่องกิจกรรมนิเวศรูปแบบต่างๆ อย่างประเทศในสหภาพยุโรปมีสิ่งที่เรียกว่า Green Deal ที่ระบุการเพิ่มพื้นที่เกษตรเชิงนิเวศ 25%ของพื้นที่เกษตรกรรม และลดการใช้สารเคมีอันตรายลงให้เป็นศูนย์
นี่คือการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการปรับระบบอาหารไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง “ไม่ใช่เพียงวาทกรรม” ที่จะเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาครองฐานทรัพยากร และทำลายระบบนิเวศต่อไป.