“การศึกษา” คือ “การลงทุน”...ที่ไม่มีวันขาดทุนเป็นประโยคสะท้อนความจริงได้อย่างชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มไม่มีหัก จะเกิดอะไรขึ้น...หากเด็กที่ยากจนได้เรียนต่อจนจบปริญญาตรี? คำตอบมีว่า... พวกเขาจะมีรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทํางานโดยรวม เพิ่มขึ้นราว 66,000 ล้านบาท
เฉลี่ยคนละ 3.3 ล้านบาท และสร้างผลตอบแทนสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับการเรียนจบเพียงชั้น ม.ปลาย
ความท้าทายสำคัญที่ผ่านมาคือ “พิษเศรษฐกิจ” ทําเด็กยากจนพิเศษ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี ข้อมูลที่สำรวจประเทศไทยมีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล-ม.3) ราว 9 ล้านคน
อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
จากการสำรวจสถานการณ์ “นักเรียนยากจนพิเศษ” ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน
...
ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุด ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน
ประเด็นสำคัญมีว่า...ปัจจุบันมีเด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเด็กกลุ่ม ช่วงชั้นรอยต่อ (ป.6 ม.3 และ ม. 6) ที่มักจะหลุดจากระบบในช่วงปิดเทอมและอาจจะไม่กลับเข้ามาเรียนอีก
ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤติโควิด–19 ยังสะท้อนและเปิดแผลให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยลุกลามและร้ายแรงแค่ไหน โดยพบว่าเด็กยากจนพิเศษมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ผู้ปกครองตกงานมากขึ้น รายได้ลดลง เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน
ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบกับนักเรียนโดยตรง จากการประมาณการของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) โดยวิเคราะห์แนวโน้มของดัชนีราคาผู้บริโภคตามอัตราเงินเฟ้อและมูลค่าที่แท้จริง
พบว่าในปี 2563-2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านอาหารและการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงในการใช้ชีวิตของครัวเรือนผู้ปกครองและนักเรียนจึงเพิ่มสูงขึ้น แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านการศึกษาจะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยก็ตาม
ดังนั้นครัวเรือนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายประจำวันในด้านต่างๆที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลต่อกำลังในการสนับสนุนการศึกษาให้บุตรหลานลดลง
การศึกษาถึงแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้ของผู้ปกครองร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมาร้อยละ 53.9 คือเงินเดือนหรือค่าจ้างและรายได้จากการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 42.4 ตามลำดับ
เมื่อประมวลปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษซึ่งควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พบว่ามีสภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่กว่า ร้อยละ 38 และอาศัยอยู่ในครอบครัวยากจนที่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไป
โดยที่มีผู้ปกครองลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐกว่าร้อยละ 31
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาบอกว่า โจทย์ท้าทายของการสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาไทยในอนาคตจำเป็นต้องพิจารณาบนพื้นฐานผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงสองสามปีผ่านมา
...
“ทุนเสมอภาค” ที่เคยอุดหนุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษในปีการศึกษา 2561 จำนวน 3,000 บาท หากคำนวณใหม่ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปร้อยละ 3.1 พบว่ามูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือเพียง 2,728 บาท
เช่นเดียวกับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในระดับประถมศึกษาที่เคยอุดหนุนในปี 2554 จำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อปีหรือวันละ 5 บาทและในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 15 บาท คิดมูลค่าที่แท้จริงตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 พบว่าเหลือเพียง 840 บาท และ 2,521 บาทตามลำดับ
แน่นอนว่าค่าเงินที่เปลี่ยนไป...ทำให้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและสถานการณ์เงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะสูงถึงร้อยละ 4-5 และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต
เพื่อรักษามูลค่าที่แท้จริงของอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ควรเป็นในปี 2565 เสนอว่ารัฐบาลควรเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในปัจจุบันที่จัดสรรให้ระดับประถมศึกษาจาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท และระดับมัธยมต้นจาก 3,000 เป็น 3,300 บาท
ขณะที่ทุนเสมอภาคซึ่งสนับสนุนนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับจาก 3,000 บาท เป็น 3,300 บาท เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา
อีกข้อมูลสำคัญที่ผ่านมามีงานวิจัยของยูนิเซฟในปี 2015 ชี้ว่าจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์
...
ส่วนข้อมูลจากงานวิจัยของ Eric Hanushek ในปี 2020 ได้ลอง คำนวณว่าถ้าเด็กทุกคนในประเทศไทยบรรลุการศึกษาตามมาตรฐานสากล จะทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้ถึง 5.5% ไปได้ตลอดทั้งศตวรรษที่ 21 หรือในอีกทางหนึ่ง...ถ้าไทยสามารถทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ได้สำเร็จ...
จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มถึง 3% ไปจนสิ้นศตวรรษเช่นกัน
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับการพัฒนาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะยิ่งมีเด็กเยาวชนไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมากเท่าไหร่ เราจะไปสู่ประเทศรายได้สูงได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น...มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระบบการศึกษาจึงไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่คือ... “การลงทุน”
การที่ประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงใน 20 ปี รายได้เฉลี่ยขั้นต่ำของประชากรควรอยู่ที่ 38,000 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันนี้ประชากรไทยยังมีรายได้เฉลี่ยเพียง 20,920 บาท/เดือน การลงทุนด้านการศึกษาเพื่อผลักดันให้มีเด็กจบระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าเพิ่มขึ้น เพิ่มสมรรถนะของสถานศึกษา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฝากทิ้งท้ายว่าการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศเพื่อให้ตลาดแรงงานแข็งแรง...ต้องลงทุนวันนี้ เพราะถ้าไม่ลงทุนวันนี้ เราจะสูญเสียโอกาสของประเทศ นี่คือ “ค่าเสียโอกาส” ที่น่าเสียดายที่สุด.