จิตรกรหนุ่ม ในเรื่องเล่าเรื่องนี้มีฝีมือระดับรางวัลเหรียญทอง จากมหาวิทยาลัย แวดวงครูบาอาจารย์ชื่นชมไม่ขาดปาก เขาฝันไกล จะเป็นจิตรกรใหญ่ ภาพเขียนถูกประมูลขายได้ราคาสูง

(เรื่องคมๆ ความหมายชวนคิด สำนักพิมพ์อินสไปร์ เครือนานมี พ.ศ.2553)

วันหนึ่ง เขาเริ่มแผนการตลาด...ที่คาดว่าลึกซึ้ง นำภาพเขียนที่มั่นใจว่าดีที่สุดไปตั้งไว้ในละแวกตลาดที่มีคนพลุกพล่าน ตอนเช้า เขียนหนังสือบอกให้ชาวบ้านช่วยชี้จุดบกพร่องในภาพ

แล้ววางปากกาและกระดาษไว้ข้างๆ

ตกเย็น เขาก็ไปติดตามผลงาน ปรากฏว่ามีคำวิพากษ์วิจารณ์ภาพต่างๆนานา อ่านแล้วคิดได้ว่า ภาพเขียนนี้ไม่มีอะไรดีเลย

คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น จิตรกรหนุ่มไม่คาดมาก่อน ก่อนหน้าเขายังปลื้มอยู่กับคำชื่นชมของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย...แต่ในสายตาชาวบ้านกลับตรงกันข้าม “ทำไม จึงเป็นอย่างนี้ไปได้เล่า”

จิตรกรหนุ่มรำพึงด้วยความเศร้า จิตเขาตกลงไปมาก จมปลักอยู่กับความสิ้นหวัง

แต่เขาก็สะดุดคิด คำวิพากษ์วิจารณ์ชาวบ้านยังชี้ชัดไม่ได้ ฝีมือเขาไม่เอาไหน เรื่องที่เกิดขึ้นในตลาดจึงไม่ควรด่วนสรุป

วันต่อมาจิตรกรหนุ่มนำภาพเขียนที่เขาเขียนขึ้นใหม่ เหมือนภาพเดิมทุกอย่างไปตั้งไว้จุดเดิมในตลาด แต่คราวนี้เขาเปลี่ยนวิธี แทนที่จะเขียนบอกขอคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่เปลี่ยนเป็นวางพู่กัน และสีต่างๆเอาไว้

แล้วตัวเองก็ยืนบอกชาวบ้านที่เดินผ่านว่า ขอให้แต่งเติม หรือแก้ไขภาพส่วนที่เห็นว่าไม่สวยงามตามสบาย

ผลที่เกิดขึ้น แตกต่างอย่างลิบลับกับเมื่อวันก่อน แต่ละคนที่หยุดดูรูปครู่ใหญ่ต่างก็ออกปากชมว่า เป็นภาพเขียนที่สวยงามลงตัว หาที่ติไม่ได้ ไม่มีใครสักคนเดียวแก้ไขแต่งเติมภาพตามที่เขาร้องขอ

เรื่องคมๆเรื่องนี้จบลงด้วยประโยค “ในที่สุดจิตรกรหนุ่มก็ได้คำตอบ”

...

มีคำอธิบาย ความหมายชวนคิด...ว่า จิตรกรหนุ่มคงได้ค้นพบเคล็ดลับของการใช้ชีวิตแล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้หมด สิ่งที่เราทำบางคนอาจดูน่าเกลียด แต่ในสายตาของอีกหลายคนอาจดูงดงาม

รสนิยมของคนต่างกัน เราไม่มีทางสนองความพอใจของใครได้ทุกคน พ่อครัวที่ฉลาด ไม่คาดหวังจะปรุงอาหารให้ถูกปากคนทุกคน แต่ตั้งใจปรุงรสที่คาดว่าอร่อยที่สุดสำหรับลูกค้าบางคน

คนส่วนใหญ่มักตัดสินใจตามใจผู้อื่น ละเลยความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง สุดท้ายก็มักสูญเสียตัวตนไป จึงยากนักที่หาความสำเร็จและความสุขในชีวิต

วิถีชีวิตจิตรกรหนุ่มในเรื่องเล่าเรื่องนี้ เป็นวิถีชีวิตเดียวกับนักการเมือง...ต้องทำทุกอย่างเพื่อเรียกคะแนนนิยม

แต่ประชาชน คนในกรุงฯ คนในเมือง และคนในชนบท แตกต่างกัน ในเมืองไทย ชัดเจนถึงขั้นมีงานวิจัย สองนคราประชาธิปไตย...

คนกรุงเลือกนักการเมืองแบบหนึ่ง คนบ้านนอกเลือกนักการเมืองอีกแบบหนึ่ง

การเมืองไทยจึงเดินหน้าไปแบบหันรีหันขวาง ไม่ไปในทิศทางเดียว

การเลือกตั้งครั้งที่หวังกันว่าจะมี...ผู้รู้มองแนวโน้มว่า คนไทยเบื่อของเก่า ต้องการของใหม่...แต่โชคร้าย เป็นของใหม่ที่เอาของเก่ามาย้อมแมวขาย...

วี่แววของฝ่ายที่ชนะ เขาก็มองกันชัดเจน...ฝ่ายที่มีเงินมากกว่า ส่วนฝ่ายที่เงินน้อย กติกาเลือกตั้งครั้งนี้ เขาว่ากันว่า โอกาสพอมี แต่ก็น้อยเหลือเกิน

กลัวอย่างเดียว งานนี้ถ้าพรรคทหารแก่แพ้ ทหารหนุ่มจะเข้ามา

คนแก่รุ่นผมขอแต่รักษาระดับประชาธิปไตยครึ่งใบเอาไว้ อย่าให้เป็นเผด็จการเต็มใบเหมือนพม่า ก็น่าจะพอ.

กิเลน ประลองเชิง