ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวแถลงข่าว “วิกฤติเด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อสังคมไทย” ว่า ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ โดยในปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.02 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้งเกิดภาวะพึ่งพิงวัยแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2583 หากอัตราการเกิดยังคงลดต่ำลง สัดส่วนวัยเด็กจะมีเพียงร้อยละ 13.3 ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 55.5 และสัดส่วนวัยสูงอายุสูงถึงร้อยละ 31.1 โดย พม.ได้เตรียมการออกแบบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมด้านเด็ก ดังนี้ 1.ขยายความครอบคลุมของเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยมุ่งสู่ความถ้วนหน้า 2.มุ่งเน้นการลงทุนทางสังคม โดยการส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง 3.สร้างสังคมและสภาพแวดล้อมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และ 4.เตรียมพร้อมรับมือกับอัตราการเกิด และเตรียมบรรยากาศการพัฒนาเด็กที่สมวัย

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณดูแลคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างเต็มที่และเพียงพอ งบ เรื่องอื่นต่อรองได้แต่งบเรื่องเด็กไม่ควรต่อรอง ตนเห็นว่า ควรจัดสรรเงินเด็กแรกเกิดตั้งแต่ในครรภ์ เพราะจะส่งผล ถึงพัฒนาการเด็ก ภาครัฐต้องมีนโยบายดูแลเด็กรอบด้านทุกมิติ และเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ โดย พม.เป็นเจ้าภาพ.