- ไทยเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ที่ระบาดทางตะวันตก โดยเฉพาะ "XBB.1.5" ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว หลบหลีกภูมิต้านทานเก่า และภูมิต้านทานต่อวัคซีนที่ฉีด หวั่นเกิดเหตุระบาดซ้ำ เตือนคนติดโควิดฯ เสี่ยงไขมันในเลือดสูงมากกว่าคนไม่ติดเชื้อ 25%
โควิดฯ ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก และมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ล่าสุดประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งอาจทำให้สายพันธุ์ใหม่เข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศได้ โดยเฉพาะ "XBB.1.5" ที่ทั่วโลกต่างเฝ้ากังวลอยู่ในขณะนี้ เดิมสายพันธุ์ดังกล่าวพบในอเมริกา และกระจายไปแถบยุโรป ซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วนการระบาดถึง 70% ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา คาดว่าอาจทำให้เกิดการระบาดระลอกถัดๆ ไปต่อจากนี้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย!!!
ทำความรู้จัก "XBB.1.5" พอสังเขป
"XBB.1.5" ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของ "โอมิครอน" ที่มีสมรรถนะในการแพร่เชื้อสูงที่สุดในทุกสายพันธุ์ย่อย ที่เคยพบมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) โดย Dr.Maria Van Kerkhove ได้สรุปผลการประชุมของ The Technical Advisory Group on Virus Evolution (TAG-VE) ระบุว่า ปัจจุบันเจ้าเชื้อ XBB.1.5 ขณะนี้ระบาดไปแล้ว 29 ประเทศทั่วโลก
...
ส่วนสาเหตุที่ XBB.1.5 แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นที่มีมานั้น? Cao YL และคณะจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ผลการศึกษาใน bioRxiv เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 พิสูจน์ให้เห็นว่า XBB.1.5 นั้นมีการกลายพันธุ์ต่อยอดจาก XBB.1 ทำให้มีคุณสมบัติทั้งเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมาก และสามารถจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นกว่าเดิม ซึ่งทั้ง 2 คุณสมบัตินี้คาดว่าเป็นคำอธิบายถึงปรากฏการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ของสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้
ไทยจับตาเฝ้าระวัง ชี้แพร่ระบาดเร็ว-หลบภูมิต้านทานเก่า และภูมิต้านทานต่อวัคซีนที่ฉีด
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สายพันธุ์โควิดฯ จากตะวันตกที่ต้องเฝ้าจับตานั้น ปัจจุบันการระบาดของไทยเริ่มอยู่ในช่วงขาลง และส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 โดยจะมีขาขึ้นของสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดีในอเมริกาและตะวันตก สายพันธุ์ที่ระบาดหลังจากที่ระบาดด้วย BA.2.75 แล้ว หลังจากนั้นสายพันธุ์ต่อมาเป็น BQ.1.1 และขณะนี้กำลังเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ XBB.1.5 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เก่า ทั้งสายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB.1.5 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว และหลบหลีกภูมิต้านทานเก่า รวมทั้งภูมิต้านทานต่อวัคซีนที่ฉีด จึงทำให้แพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้เพิ่มขึ้น
ส่วนสายพันธุ์โควิดในไทยหลังจากนี้ ที่จะต้องเฝ้าจับตาอย่างยิ่งคงหนีไม่พ้นสายพันธุ์ข้องต้นที่กล่าวมา เพราะมีนักท่องเที่ยวจากทางตะวันตกเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก การถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ในประเทศไทย คงจะต้องทำเพิ่มขึ้นและอย่างรวดเร็วในการเฝ้าระวังเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าจะเป็นตามที่คาด หรือจะมีสายพันธุ์ใหม่จากที่อื่นในโลกเข้ามาก็ได้
ไทยพบโควิดสายพันธุ์ "XAY.2" ส่วน "XBB.1.5" ที่กังวลกันยังไม่พบ
ด้าน นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดฯ ในประเทศไทย ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายตรวจพบสายพันธุ์ XAY.2 จำนวน 1 รายในไทย ซึ่งกรมฯ ได้ส่งข้อมูลเผยแพร่ไปยังฐานข้อมูล GISAID ทั้งนี้ สายพันธุ์ XAY.2 เป็นลูกผสมระหว่างเดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.45 กับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 ขณะนี้ทั่วโลกพบ 344 ราย อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ใกล้ชิดยังไม่พบการติดเชื้อ ในส่วนของข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาดในจีนพบว่า 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และสายพันธุ์ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล
...
สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา จากการเฝ้าระวังยังไม่พบในประเทศไทย โดยสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่ระบาดเร็วใกล้เคียงกับ XBB.1.5
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่วนการปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันนั้น ควรปฏิบัติตัวดังนี้
เตือนติดโควิดฯ เสี่ยงไขมันในเลือดสูงมากกว่าคนไม่ติด 25%
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า ความเสี่ยงเรื่องไขมันในเลือดสูงหลังติดโควิดฯ ล่าสุด Xu E และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่เคยติดเชื้อโควิดฯ ประมาณ 52,000 คน กับกลุ่มประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดฯ ประมาณ 2.6 ล้านคน และกลุ่มประชากรในอดีตก่อนมีการระบาดของโควิดฯ ประมาณ 2.5 ล้านคน โดยรวมแล้วอายุเฉลี่ยราว 55-60 ปี และส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่า 80% ซึ่งมีการติดตามไปกว่า 1 ปี ทั้งนี้ สาระสำคัญพบว่ากลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดฯ นั้น จะมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบภาวะไขมันในเลือดสูงมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อประมาณ 25%
...
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเสี่ยงยิ่งมาก หากป่วยรุนแรง แต่ถึงติดเชื้อแล้วมีอาการน้อย ก็ยังมีความเสี่ยงสูงกว่าไม่ติดเชื้อ โดยเฉลี่ยแล้วหากติดตามไป 1 ปี จะมีคนเป็นไขมันสูงมากขึ้นกว่าการไม่ติดเชื้อประมาณ 40 ใน 1,000 คน หรือ 4 คน จาก 100 คน นี่คือข้อมูลล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ เมื่อ 6 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในปัญหาผิดปกติเรื้อรังหรือ ลองโควิด (Long COVID) ที่ควรเฝ้าระวัง
"ดังนั้นคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน แม้หายดีแล้วก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง กินให้ดี พักผ่อน ออกกำลังกายให้เพียงพอ สังเกตอาการผิดปกติ และไปตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ ที่สำคัญคือการป้องกันตัวไม่ให้ติดซ้ำ เพราะติดเพิ่มแต่ละครั้ง ย่อมมีความเสี่ยงต่อลองโควิดด้วยเสมอ ดังนั้นการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก"
...
แนะป้องกันตัว "ไม่ติดเชื้อ-ไม่ติดซ้ำ" ดีที่สุด
นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังมองว่า สถานการณ์รอบโลกในปัจจุบัน ฟันธงได้ว่าคลื่นการระบาดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ได้สงบ ซึ่งปีกระต่ายนี้ควรดำรงตนเป็นกระต่ายที่ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตูม ไม่หลงเชื่อข่าวลวงด้วยกิเลส รู้เท่าทันสถานการณ์ มีสติ ใช้ชีวิตไม่ประมาท และระแวดระวังป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด เพื่อลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลองโควิด สำคัญที่สุด คือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ส่วนย่างก้าวที่ควรระมัดระวังป้องกันให้ดีไม่ว่าจะเป็นช่วงวันเด็ก, ตรุษจีน, วาเลนไทน์, งานบุญ และสงกรานต์ แน่นอนว่าเรามีความรู้มากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็ยังไม่รู้อีกมากเช่นกัน หากประมาทอาจเป็นย่างก้าวที่ลื่นไถลไปจากที่หวังไว้ได้
"ธรรมชาติการระบาดระลอกล่าสุดของไทยเรา ก็สอดคล้องกับทั่วโลกที่เคยเผชิญมาก่อน ดังที่เคยวิเคราะห์นำเสนอให้ทราบมาแล้ว ถัดไปที่จะมาหากที่อื่นจำนวนมาก ลงมือรับมือเข้มข้น แต่เราว่าเราแน่ เราเจ๋ง เอาอยู่ มีโน่นนี่นั่นเพียงพอ และวางอกวางใจชิลๆ โอกาสที่จะเป็น A few exceptions หรือข้อยกเว้นบางประการ คงยากที่จะเกิดขึ้น"
ดังนั้นขอย้ำว่า...กิจการห้างร้านและฝั่งธุรกิจ ควรวางแผนจัดการความเสี่ยงไว้ด้วย
เห็นข่าวที่นักการเมืองออกมาบอกว่า จะอ้าแขนเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มที่ช่วง เม.ย.-มิ.ย.นั้น อาจทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยทุ่มทุน เพื่อเตรียมทรัพยากรไว้เต็มที่ หรืออาจมีการกู้หนี้ยืมสินมาไว้ เพื่อหวังจะทำกำไรเติบโตในช่วงที่เขาบอกมา แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ไม่ว่าที่ใดในโลกล้วนมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติการระบาดที่ยังไม่ได้สงบ ไวรัสกลายพันธุ์หลากหลายและไม่ได้กลายพันธุ์จนด้อยลงเรื่อยๆ อย่างที่มีการออกข่าวลวงกันให้หลงเชื่อ ดังจะเห็นได้จากสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลัง อาทิ BQ.1.x, CH.1.1 หรือแม้แต่ตัวที่ทั่วโลกกังวลกันอยู่ในตอนนี้ อย่าง XBB.1.5 !!!
กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB