Dtac Safe Internet ผนึก กทม.- ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ให้ความรู้เด็กนักเรียน ต้านภัยทางเพศออนไลน์ โดย เด็กมากกว่า 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ ขณะที่ไทยมีจำนวนรายงานการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์รั้งอันดับ 2 ของโลก เว็บมืดเติบโตขึ้น 5 เท่า!
วันที่ 9 มกราคม 2566 ดีแทค ผนึก กรุงเทพมหานคร – กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ตำรวจไซเบอร์ (TICAC-CCIB) ออนทัวร์ให้ความรู้เด็กนักเรียนสังกัด กทม. หลังข้อมูลชี้เด็กไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ (Online Child Exploitation) สูงถึง 20% สัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ความเหลื่อมล้ำซัดเด็กแพร่ภาพของตัวเองแลกเงิน ด้านดีแทคตั้งเป้าพัฒนาความรู้ครอบคลุมนักเรียนประถมปลายทั่วประเทศภายใต้โครงการ ดีแทค Safe Internet
เด็กไทยตกอยู่ในความเสี่ยง
พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงจากการเผยแพร่สื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ ถ้าดูจากสถิติที่ได้รับรายงานจาก NCMEC พบว่าตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายงานการตรวจพบสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2562 พบ 117,213 รายงาน ในปี 2563 พบ 396,049 รายงาน ในปี 2564 พบ 586,582 รายงาน และในปี 2565 พบ 523,169 รายงาน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน พบว่า เว็บมืดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในไทยยังมีการเติบโตสูงถึง 5 เท่า
จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า คนร้าย 1 คน สามารถสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน เด็กถึง 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว พบว่า 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและไม่เท่าเทียมทางรายได้ยังส่งผลให้เด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผลิตและเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอทางเพศด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิ่งของต่างๆ
“การสื่อสารออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้ประโยชน์จากความเปราะบางของเด็กเพื่อหลอกลวง บีบบังคับ ชักชวน และแสวงหาประโยชน์จากพวกเขา กลไกการคุกคามของอาชญากรถือเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ทำลายซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงของมนุษย์” พ.ต.อ.รุ่งเลิศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายไทย ความผิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ตำรวจไม่สามารถแจ้งความผิดต่ออาชญากรได้ในขั้นตอนแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องพฤติกรรมตัวตนและความชอบของเหยื่อ (Cyber Stalking) การสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจเพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง (Child Grooming) รวมถึงบทสนทนาว่าด้วยเรื่องเพศ (Sexting) ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้เด็กด้วยองค์ความรู้ รู้จักระแวดระวังและแนวทางการรับมือกับปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่จะเกิดเหตุบานปลายขึ้น ซึ่งอาชญากรไซเบอร์นั้นจะเก็บภาพเหยื่อไว้บนออนไลน์ (Digital footprint) ซึ่งยากต่อการลบให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง
กทม. เข้ม Online Child Exploitation
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้งสิ้น 437 โรงเรียน ครอบคลุม 50 เขต นักเรียนทั้งสิ้น 261,160 คน นับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ dtac Safe Internet ในการอบรมความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้งานออนไลน์ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 11-13 ปี (ป.5-6) จำนวน 50 โรงเรียน กว่า 10,000 คน ผ่านคาบเรียน “BMA x dtac Safe Internet School Tour” เพื่อให้มีองค์ความรู้และภูมิคุ้มกันต่อภัยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ เข้าใจถึงกระบวนการและสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที จากการลงพื้นที่อบรมที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนราว 3% เคยถูกร้องขอ ข่มขู่หรือกดดันให้ส่งรูปภาพหรือทำพฤติกรรมทางเพศทางออนไลน์ 13% เคยส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวให้คนแปลกหน้า และ 3% เคยได้รับภาพ ข้อความหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาส่อไปทางเพศ โดยช่องทางที่มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามา ประกอบไปด้วย ช่องทางโซเชียลมีเดีย เกมออนไลน์ รวมถึงแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่ผู้ใหญ่ยังไม่คุ้นเคย
“ข้อมูลจากทางตำรวจและแบบสำรวจที่ กทม. จัดทำร่วมกับ ดีแทค สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งในฐานะรองผู้ว่าฯ ที่ดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. พร้อมยกปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขผ่านการอบรม ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล” นายศานนท์ กล่าว
ดีแทคทำหลักสูตรเข้าถึงประถมปลายทั่วประเทศ
ความรุนแรงของภัยการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์เป็นภัยคุกคามที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) มีวาระให้บรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ดังข้อต่อไปนี้ ข้อ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น และข้อ 16.2 ยุติการข่มเหง การใช้หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตระหนักถึงภัยออนไลน์ที่เกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ ดังนั้น ภายใต้โครงการดีแทค Safe Internet จึงมุ่งส่งเสริมศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา การให้ความรู้แก่เด็กและครูเกี่ยวกับความปลอดภัยและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบ โดยได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จัดทำหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้ในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่มีมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยให้ความร่วมมือและริเริ่มในการหยุดยั้งภัยดังกล่าว รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมและการมีส่วนร่วมของพลเมืองอินเทอร์เน็ตผ่านแคมเปญการสื่อสาร และจะขยายผลการอบรมให้ครอบคลุมนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมปีที่ 5-6 ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
“การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรับมือกับปัญหานี้เท่านั้น เพราะการจบปัญหานี้ยังคงต้องการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ช่วยกันสร้างความตระหนักในสังคม และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นระบบและตัดตอนได้อย่างทันท่วงที” นางอรอุมา กล่าวทิ้งท้าย