การทำเกษตรกรรมในปัจจุบันต้องยอมรับว่า “มีการนำสารเคมี และยากำจัดศัตรูพืช” เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย “เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตและทางกายภาพที่สวยงาม” ให้สามารถจำหน่ายแข่งขันในท้องตลาดได้ ทำให้มีการนำเข้าสารเคมีกลุ่มนี้ปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

กลายเป็นว่า “สารเคมีเหล่านี้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและผลผลิต” ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทยจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภคผลิตผลทางการเกษตรนั้น

แล้วไม่นานมานี้ Thai Climate Justice for All ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดเวที Ted Talk Climate Change สิ่งแวดล้อมประจำปี 2565 จากมุมมองนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และนักวิชาการทำงานกับประชาชนแต่ละด้าน

ปรกชล อู๋ทรัพย์
ปรกชล อู๋ทรัพย์

...

การนี้ ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้พูดในหัวข้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความปลอดภัยด้านอาหารว่า ถ้าย้อนดูสถิติในปี 2560 “ประเทศไทย” นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึง 198 ล้าน กก. แบ่งเป็น “ไกลโฟเซต” สารกำจัดวัชพืช 60 ล้าน กก. แล้ว IARC ประกาศเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2A

เช่นเดียวกับ “พาราควอต” สารกำจัดวัชพืชนำเข้า 44.5 ล้าน กก. อันมีพิษเฉียบพลันสูงกว่าคาร์โบฟูราน 43 เท่า ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรไม่อนุญาตต่อทะเบียน เพราะเป็นสารก่อโรคพาร์กินสัน “คลอร์ไพริฟอส” สารกำจัดแมลงนำเข้า 3.32 ล้าน กก. ที่พบการตกค้างสูงในผักผลไม้ส่งผลต่อ สมองทารกในครรภ์และพัฒนาการเด็ก

ทำให้ในช่วงนั้น “ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ” ต้องออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก 3 สารนี้ผลสรุปแบนได้เพียง 2 สาร คือ “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในปัจจุบันมีการนำเข้าเป็นศูนย์” แต่ในส่วน “ไกลโฟเซต” ถูกจำกัดการใช้จากนำเข้า 60 ล้าน กก. ก็เหลือเพียง 13 ล้าน กก. หรือลดลงไป 78%

ดังนั้น ภาพรวมปี 2564 คงมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 136 ล้าน กก. จากเดิม 198 ล้าน กก. ลดลง 31% แน่นอนการลดลงนี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร ผู้บริโภค และการตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้มากมาย

ปัญหามีว่า “เมื่อพิจารณาสารเคมีประเภทอื่นๆที่ยังนำเข้าอยู่นั้นจะมีความปลอดภัยหรือไม่ ...?” ในเรื่องนี้คณะนักวิชาการทั้งแพทย์ สาธารณสุข เภสัชวิทยา นักการเกษตร ร่วมกับ Thai-PAN ก็มีประเมินกรณีประเทศไทยอนุญาตให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งหมด 563 ชนิด ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2562

ปรากฏพบว่า “มีสารเคมีเข้าข่ายอันตรายร้ายแรงสูง 230 ชนิด” ที่มีลักษณะเป็นสารพิษเฉียบพลันสูง 52 ชนิด สารก่อโรคมะเร็ง 38 ชนิด ก่อกลายพันธุ์ 2 ชนิด พิษระบบสืบพันธุ์ 22 ชนิด รบกวนต่อมไร้ท่อ 4 ชนิด รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ 186 ชนิด และเป็นพิษสูงต่อผึ้ง 49 ชนิด

นอกจากนี้ ยังมีสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือสารพิษ (PIC) 5 ชนิด สารตกค้างยาวนาน (POPs) 1 ชนิด และสารทำลายชั้นบรรยากาศทำให้เกิดสภาพโลกร้อน (MON) 1 ชนิด

สิ่งที่น่าสนใจในสารอันตรายร้ายแรงสูง 230 ชนิดในช่วงปี 2561-2564 ประเทศไทยนำเข้า 102 ชนิด ฉะนั้น ตอนนี้มีสารเคมีเข้าข่ายเป็นอันตรายร้ายแรงสูงแต่ยังไม่มีการนำเข้าที่น่าจะสามารถจัดการได้เลย 128 ชนิด

ทว่า ในปี 2564 “ประเทศไทย” นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 257 ชนิดปริมาณ 136 ล้าน กก. เข้าข่ายเป็นสารเคมีอันตรายสูง 95 ชนิด ปริมาณ 69 ล้าน กก. ในจำนวนนี้ก็คือ “ไกลโฟเซต” ที่ถูกจำกัดการใช้แต่ยังไม่ถูกห้าม

...

“ไม่เท่านั้นยังมีสารต้องเฝ้าระวังอย่างคาร์เบนดาซิมอันเป็นสารประเภทกำจัดโรคพืช หรือสารจำกัดเชื้อราประเภทดูดซึมโดยมีการนำเข้า 3 ล้าน กก./ปีแล้วสารนี้มีลักษณะตกค้างเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชผักผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถชะล้างออกได้เข้าสู่ร่างกายมักจะกลายพันธุ์มีผลต่อระบบสืบพันธุ์” ปรกชลว่า

ส่วนสถานการณ์การตกค้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2565 ตามข้อมูลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ยอดนิยม 13 ชนิดจาก 5 ห้างสรรพสินค้า ใน 11 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ ราชบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี จันทบุรี ขอนแก่น ยโสธร มหาสารคาม และสงขลา นำไปวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ TUV SUD ประเทศอิตาลีเมื่อต้นปีนี้

พบสารเคมีตกค้างเกินกฎหมายกำหนด เช่น ผักคะน้า ถั่วฝักยาว พริกแดง มะระ มะเขือเทศ ผักไฮโดรโปนิกส์กรีนคอส-กรีนโอ๊ก องุ่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง แตงโม และสุ่มตรวจน้ำส้มกล่อง 10 ยี่ห้อผลิตในไทย ก็พบสารตกค้าง 5 ยี่ห้อ ทั้งยังนำส้มสด 65 ตัวอย่าง ทำการตรวจมีสารเคมีตกค้าง 91% ในส้มสด 20 ชนิด

แล้วสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น “การสุ่มตรวจผักผลไม้ 3 รอบ” มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างจำนวน 103 ชนิด หรือคิดเป็น 67% สารที่พบมากที่สุดก็คือคาร์เบนดาซิน 37% ของกลุ่มตัวอย่างนั่นเอง

ประเด็นมีอยู่ว่าในห้วง “การแบนการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น” มีกลุ่มบริษัทและผู้ต้องการยกเลิกการห้ามนำเข้าสารเคมีพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยพยายามขับเคลื่อนให้ภาครัฐพิจารณาการห้ามนำเข้านั้นต่อเนื่อง จนปรากฏวาระในคณะกรรมการพิจารณาวัตถุอันตรายฯ 2 ครั้ง

...

ครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค.2565 จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองจน “นายกรัฐมนตรี” ออกมาประกาศห้ามทบทวนการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ไม่นาน “ผู้ค้าสารเคมีภาคเกษตร” ก็ผลักดันเข้าในการประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องนี้อีก “ภาคประชาสังคม” ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก

กระทั่ง คณะกรรมการพิจารณาวัตถุอันตรายฯมีมติจะไม่ทบทวนจนกว่าคดีอยู่ในศาลปกครองจะถึงที่สุด เช่นเดียวกับ “การยกเลิกการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต” ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มเกษตรกรใช้สารนี้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฟ้องคดี 1 แสนคดี แน่นอนเรามิอาจไว้วางใจในปี 2566 ที่จะไม่เกิดการหยิบยกแบน 2 สารขึ้นมาอีกได้หรือไม่

เช่นนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องมติ ส.ส.423 ต่อ 0 ในปี 2562 ในการสนับสนุนการแบน 3 สาร และจัดการโครงการแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งเป้าหมายเกษตรกรรมยั่งยืน 100% ในปี 2573 เสนอให้ตั้งเป้าหมายทั้งทางนโยบาย และทางปฏิบัติในการเลิกใช้ หรือลดใช้สารเคมีลง 50% สอดคล้องรับ EU

ดังนั้น ขอเสนอให้จัดการ 3 ยุทธศาสตร์ คือ ข้อเสนอแรก...เสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีมีอันตรายร้ายแรงสูงอย่างสารคาร์เบนดาซิม และสารไกลโฟเซต อันเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง แล้วจัดทำเกณฑ์ บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายร้ายแรงสูง พร้อมมีแผนจัดการอย่างต่อเนื่องชัดเจน

ข้อเสนอที่สอง...สร้างระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยสู่การแก้ปัญหาโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผลผลิต สิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรผู้มีโอกาสใกล้ชิดสัมผัสสารเคมี

ข้อเสนอที่สาม...เสนอให้ปฏิรูปเชิงระบบสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปริมาณสูง และนำไปสู่การผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรนิเวศโดย “รัฐบาล” ต้องมีนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย

...

ด้วยเสนอให้มีมาตรการทางการเงินสำคัญๆ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง 1.ให้มีเงินอุดหนุนโดยตรง เพื่อการทำการเกษตรที่ลดการใช้สารพิษ 2.มีเงินอุดหนุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม

ย้ำด้วยปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี “ควรมีเงินสนับสนุนวิจัยพัฒนาการผลิตทดแทน และทุนพัฒนาตลาด” แล้วลดหย่อนภาษีแก่ผู้ทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี หรือลดการใช้สารเคมีน้อยลง

นี่คือข้อเสนอจาก “ภาคประชาสังคม” อันเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อยลง นำไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน 100% ตามที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2573 ให้เกิดขึ้นจริง.