นโยบายเข้าแทรกแซง “ประกันราคาสินค้าการเกษตร” กลายเป็นหอกแหลมหวนมาทำลายขีดความสามารถการแข่งขันภาคเกษตรไทยตกต่ำสุดรอบ 21 ปี ทำให้ประเทศคู่แข่งแซงหน้าสูงขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลนี้มาจาก “กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA, 2022)” ได้สำรวจดัชนีผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมในภาคเกษตรทั่วโลกปรากฏว่า “เกษตรไทยไม่ปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2550” แถมถดถอยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกในรอบ 21 ปี ขณะที่ประเทศเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย จีน อินเดีย มีค่าดัชนีปรับแซงหน้าเราไป
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ให้ข้อมูลว่าดัชนีนี้เป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงขีดความสามารถการแข่งขันในหลายประเทศเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตอย่างเช่น ที่ดิน แรงงาน ทุนที่ใช้กับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับนั้น
...
มีการสำรวจเก็บข้อมูลมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมเกิดการพัฒนาที่ดี” มิเช่นนั้นอาจสูญเสียขีดความสามารถการส่งออกสินค้าการเกษตร และส่งผลต่อรายได้ของประเทศลดลงตามมา
ปรากฏพบว่า “ดัชนีไทยไม่ปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2550” แล้วการสำรวจล่าสุดในปี 2563 ดัชนีกลับตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกครั้งแรกในรอบ 21 ปี “ส่งสัญญาณให้เห็นสิ่งผิดปกติต่อภาคเกษตรกรรม” หากปล่อยแบบนี้จะกระทบการส่งออกสินค้าการเกษตร “แว้งมาเป็นปัญหาเรื่องปากท้องของเกษตรกร” กลายเป็นภาระหนี้สินขึ้น
สาเหตุทำให้ “ดัชนีตกต่ำ” มีหลายปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สร้างความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรลดลง แล้วต้องเจอกับ “การแข่งขันในตลาดโลกรุนแรง” ส่งผลต่อการค้าค่อนข้างมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด
แม้แต่ “ประเทศเพื่อนบ้าน” ก็มีการพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตรอยู่ตลอด “ประเทศไทย” กลับไม่มีการปรับตัวแล้วหากไม่ปรับตัวรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น “ภาระงบประมาณ” เพื่อช่วยเหลือเยียวยามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้จ่ายลงทุนยกระดับประสิทธิภาพการผลิตลดลงตามมานั้น
ท้ายที่สุดขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกก็จะลดลง “ส่งผลกระทบเชิงลบย้อนกลับมาสู่เกษตรกร” ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนนี้ไปได้
นอกจากนั้นผู้ประกอบการขั้นกลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ต้องพึ่งพาผลผลิตจากเกษตรกรจะมีความเสี่ยงด้านต้นทุนมากขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง แล้วมีคำถามว่าทำไมเกษตรกรไทยไม่พัฒนาสินค้าการเกษตรตามกลไกตลาดหรือปรับตัวตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปนั้น...?
ปรากฏพบงานวิจัยในอดีตชี้สาเหตุหลักๆมาจาก “นโยบายภาครัฐ” มักนิยมใช้นโยบายการเกษตรแบบ “แทรกแซงตลาด ประกันราคา หรือการประกันรายได้” อย่างโครงการรับจำนำข้าวแบบประชานิยม “รัฐบาล” จะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรทุกเม็ด และตั้งราคารับจำนำสูงกว่าตลาด ทำให้คุณภาพข้าวไทยถดถอย
กลายเป็นแรงจูงใจ “การปรับตัวของเกษตรกรน้อยลง” ต่างจากสมัยก่อนเกษตรกรปลูกข้าวมักหวังกำไรนั้น “แต่ยุคนี้ปลูกข้าวรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล” ที่เยียวยากันใช้งบประมาณแสนล้านบาทในแต่ละปี
ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก “ภาคการเมือง” นิยมช่วยเหลือให้เงินง่ายๆ แบบเปล่าๆ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเพราะมักได้ใจมวลชนอันนำมาสู่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมัยครั้งต่อไป “แต่ว่าการดำเนินนโยบายแบบนี้มีผลประโยชน์ต่อเกษตรกรเพียงระยะสั้น” สุดท้ายผลลัพธ์ระยะกลาง หรือระยะยาว กลับเป็นผลลบต่อประเทศ
...
ยิ่งกว่านั้น “ภาษีของประชาชนถูกเก็บแต่ละปี” อาจจะเกิดประโยชน์น้อย ถูกหว่านไปกับนโยบายเกษตรวนเวียนอยู่กับ “การแทรกแซงกลไกตลาด” ผ่านการช่วยเหลือเยียวยาให้เปล่าไม่มีเงื่อนไข “อันเป็นนโยบายประชานิยม” เพื่อให้ได้คะแนนเสียงทางการเมืองที่อ้างว่าต้องการยกระดับรายได้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สิ่งสำคัญ “นโยบายนี้กลับมิได้ช่วยให้ภาระหนี้สินเกษตรกรลดลง” หากย้อนดูสถิติรายได้ปรับเพิ่มขึ้นน้อยมากตั้งแต่อดีตเฉลี่ย 2 แสนบาท/ครัวเรือน/ปี “สวนทางกับต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรทวีความรุนแรงมากขึ้นเฉลี่ย 3 แสนบาท/ครัวเรือน/ปีในช่วงทศวรรษให้หลังมานี้
ทำให้มีคำถามว่า “ถ้านโยบายสมบูรณ์แบบ (Perfect) มีประโยชน์ทำไมเกษตรกรไม่รวยขึ้น...?” เพราะระยะสั้นการได้เงินย่อมได้ประโยชน์แน่นอน แต่ถ้ามองระยะยาวเกษตรกรไม่ได้ใช้เงินจากโครงการไปลงทุนยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ขีดความสามารถลดน้อยถอยลงกลายเป็นขายสินค้าไม่ได้
“อยากบอกเกษตรกรว่านโยบายให้เงินเปล่าได้ประโยชน์ระยะสั้นๆ แต่ส่งผลเสียระยะยาวต่อท่าน สังเกตปี 2563 ผลกระทบโควิด-19 ขีดความสามารถการส่งออกสินค้าเกษตรไทยลดลงต่างจากประเทศอื่น เช่น เวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าว หรือมันสำปะหลังต้นทุนต่ำแต่ผลผลิตต่อไร่สูงส่งออกสินค้าแซงหน้าเราแล้ว” รศ.ดร.วิษณุว่า
...
สะท้อนให้เห็นว่า “เกษตรกรไทยมีความเปราะบาง” ไม่มีภูมิคุ้มกันขีดความสามารถรับมือเมื่อต้องเผชิญวิกฤตการณ์มีผลกระทบนั้นคงรอแต่ “ภาครัฐ” เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาไม่เกิดการปรับตัวแบบนี้ไปเรื่อยๆ กลายเป็นหวนกลับมาทำร้ายเกษตรกรทางอ้อม แล้วภาครัฐก็มีภาระใช้งบประมาณช่วยเหลือเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งที่จริงแล้ว “เงินนี้ควรถูกใช้ให้เกษตรกรเกิดการปรับตัว” ยกระดับขีดความสามารถการผลิตให้ดีขึ้น “เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคเกษตรยั่งยืน” เพื่อจะมีเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศมากขึ้น
ตอกย้ำด้วย “เงินลงทุนพัฒนางานวิจัยภาคการเกษตรไทย” ปัจจุบันแทบจะไม่มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนเลยด้วยซ้ำ “กลายเป็นสายงานไม่มีความก้าวหน้า” ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมีน้อยเข้าขั้นวิกฤติขาดแคลนนักวิจัย นักพัฒนาสายพันธุ์พืช โรคพืช และแมลงพืชเป็นจำนวนมากอยู่ทุกวันนี้
ตรงนี้ทำให้ “ภาคเกษตรกรรมไทยสู้ประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนานักวิจัยอยู่ตลอดไม่ได้” ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผู้กำหนดนโยบายเข้ามาอยู่ในตำแหน่งเพียง 4 ปี มักนำเงินไปใช้กับ “สิ่งปรากฏเห็นผลเร็ว (Quick Win)” ส่วนงานวิจัยค่อนข้างเห็นผลช้าใช้เวลา 8-10 ปี แต่ว่าเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรสูงสุดในระยะยาวเสมอ
เรื่องนี้กลายเป็นว่า “นโยบายดีๆ มีประโยชน์ต่อสังคมเกิดขึ้นยาก” มุ่งเน้นช่วยเหลือจ่ายเงินเห็นผลเร็ว “ถ่ายรูปลงข่าว” ทำให้งบประมาณหมดไป ในอนาคตท้ายที่สุดก็ไม่เป็นผลดีต่อสังคมประเทศชาติ
...
ประเด็นมีอยู่ว่า “ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า” อยากส่งสัญญาณต่อผู้กำหนดนโยบาย หรือพรรคการเมือง ถ้าเป็นไปได้ควรมาช่วยกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ “ออกนโยบายที่สร้างสรรค์” นำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร ลดความเสี่ยงในการผลิต และการตลาดอย่างแท้จริง
เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น “หนี้สินครัวเรือนลดลง” แล้วนโยบายที่ดีทำให้ผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตการเกษตรมีความแน่นอน ทั้งปริมาณ และคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ฉะนั้นอย่ามัวแต่แข่งขันกันแจกเงินให้เกษตรกรอย่างเดียว “สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อใคร” แต่อาจได้คะแนนเสียงความนิยมในระยะสั้นเท่านั้น “แต่ผลลัพธ์ระยะยาวจะส่งผลเชิงลบต่อสังคมไทย” ขอฝากให้คนไทยช่วยกันเลือกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายสร้างสรรค์ และเกิดผลประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน
สุดท้ายนี้ “นักการเมือง” ก็ควรร่วมด้วยช่วยกัน “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อสังคมไทยของเราที่ดีขึ้น มิใช่มุ่งเน้นแต่เฉพาะ “นโยบายประชานิยม” ที่ประเทศได้ผลประโยชน์น้อยไม่ยั่งยืน...