แม้ข้าวไทยจะกลับมาผงาดเป็นเบอร์สองของโลกด้านการส่งออกในปีนี้ แต่ต้องเสียแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก ให้แก่ข้าวหอมมะลิกัมพูชา

ปี 2566 ทิศทางข้าวไทยจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์พลิกผันได้ตลอดจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน สภาวะที่เกือบเป็น สุญญากาศทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ค่าเงินบาทผันผวน และการเมืองไทยที่ยังไม่ทราบทิศทางที่แน่นอน

“ปีที่ผ่านมาน้ำในเขื่อนค่อนข้างเยอะ ทำให้ปีนี้ชาวนาจะทำนาปรังได้ โดยเฉพาะในภาคกลาง ผลผลิตข้าวน่าจะมาก แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน ผลผลิตมากราคาน่าจะลงเล็กน้อย เพราะเราต้องไปแข่งกับข้าวในตลาดโลก ท่ามกลางปัจจัยสำคัญ ค่าเงินบาทที่ผันผวน สำหรับในมุมมองของผู้ส่งออก เราอยากให้ค่าเงินมีเสถียรภาพใกล้เคียงกับค่าเงินของคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดีย

เราไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งกว่าคู่แข่ง แต่เราต้องการให้อยู่ในระดับเดียวกับเขา ไม่ใช่เฉพาะข้าว แต่พืชส่งออกทุกชนิดจะกระทบมาก หากค่าเงินบาทไม่เสถียร ถ้าค่าเงินอ่อนไปก็ไม่ดีสำหรับอย่างอื่น โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน เราต้องเสียเงินมากขึ้น ทุกอย่างแพงขึ้น เราต้องมาดูว่าคู่แข่งของเราอยู่ที่ไหน เรื่องนี้แบงก์ชาติต้องเข้ามาดู ไม่ปล่อยให้ค่าเงินเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ต้องเข้าใจมุมมองของการค้าจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร”

...

สำหรับทิศทางของชาวนาในปีหน้า ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้มุมมอง...ชาวนาต้องพยายามลดต้นทุนในการเพาะปลูก ขณะที่ภาครัฐต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ตรงกับความต้องการของตลาดโลก เพราะประเทศไทยปลูกข้าวประมาณปีละ 20 ล้านตัน ใช้ในประเทศไม่เกิน 10 ล้านตัน สต๊อกไว้ 2-3 ล้านตัน

ส่วนเกินทุกปีราว 8 ล้านตัน จึงต้องส่งออก ถ้า 8 ล้านตันนี้ไม่ออกจากประเทศ ปีหน้ามีเข้าสต๊อกอีก 8 ล้านตัน ราคาจะตกต่ำ ฉะนั้นถ้าข้าวเราสู้คู่แข่งไม่ได้ ทั้งด้านคุณภาพและราคา ไม่ตรงกับความต้องการของคู่ค้า ข้าวไทยจะพังทั้งระบบ

ร.ต.ท.เจริญ เสนอแนะเพิ่มเติม การเอางบมาพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถทำให้เราแข่งขันกับคู่แข่งได้ ดีกว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีให้เปล่าชาวนาปีละแสนกว่าล้านบาท โดยส่วนตัวไม่ได้คัดค้านเรื่องอุดหนุนหรือช่วยเหลือชาวนา แต่ต้องมีการพัฒนาให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิต พัฒนาสายพันธุ์ให้ตอบโจทย์ตลาดโลก ผลผลิตต่อไร่สูงไปด้วยกัน โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดโลกต้องการ แต่ไทยยังทำกันค่อนข้างน้อย

“วันนี้แทบทุกประเทศที่ซื้อข้าวขาวของเราต้องการข้าวนุ่ม แต่เราไม่มี เป็นเช่นนี้มานานแล้ว แต่บ้านเราพัฒนาข้าวพันธุ์ กข ขึ้นมาเป็นข้าวพื้นแข็งทั้งหมด เหมาะสำหรับทำข้าวนึ่งส่งไปยังแอฟริกา และชาวนาหันมาปลูกกันหมด เพราะผลผลิตต่อไร่สูง ทำให้เราไม่มีข้าวนุ่มเลย ข้าวนุ่มที่เรามีอย่างเดียวก็คือข้าวหอมมะลิเท่านั้น แต่ผลผลิตมีไม่มากนัก แถมยังขาดการพัฒนา สายพันธุ์ ทำให้กลิ่นหอมน้อยลงทุกวัน ขณะที่เวียดนาม 15 ปีที่ผ่านมา

เขาสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าว จากเมื่อก่อนข้าวเขาแข็งมาก ต้องขายถูกกว่าข้าวไทย ต่างกัน 40-50 เหรียญ จนมาวันนี้เขาพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มได้ 3-4 ชนิด พันธุ์ถูกที่สุดยังแพงกว่าเรา 40 เหรียญ ส่วนข้ามหอมของเขาขายถูกกว่าเราตันละ 300-400 เหรียญ ฉะนั้นตลาดเรากำลังถูกเวียดนามเอาไปหมด เพราะเราขาดการพัฒนา”.

...

ทีมข่าวเกษตร