ปีเถาะหรือปีกระต่าย นักษัตรสัญลักษณ์ของความหวัง

ปีเถาะ 2566 ยังเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนและประเทศชาติในการรับมือกับภาวะ “โลกร้อน” หรือ “โลกรวน”

ด้วยการจัดตั้งหน่วยราชการใหม่ขึ้นมาชื่อ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment)” หรือ “กรม Climate Change” เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวาระสำคัญของโลกและเป็นการตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

“กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” จะนำเอากรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กับบางส่วนของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มารวมกัน มีภารกิจหลักและหน้าที่ คือ การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และลดก๊าซเรือนกระจก ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการและเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมถึงวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

...

นี่ถือเป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญ โดยกรมใหม่ จะเห็นเป็นรูปธรรมภายในเดือน เม.ย.2566 แต่เริ่มทำงานในวันที่ 1 ม.ค.2566 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องประชาชน

“โลกร้อนเป็นวาระสำคัญของโลก รัฐบาลให้ความสำคัญและทำให้กรม Climate Change เกิดขึ้นทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กรม Climate Change ขณะนี้ผ่านขั้นตอนของกระทรวง จะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว สำหรับอาเซียน ไทยแทบจะเป็นประเทศท้ายๆที่มีกรม Climate Change ดังนั้น ปี 2566 ทส.จะเน้นเรื่องโลกร้อนทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ขอเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมาแล้วเกือบ 90 ล้านบาท เพื่อที่จะเอางบประมาณนี้ลงไปในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด...

...ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การทำงานเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนทำกันเฉพาะข้างบนที่ได้รับนโยบายมา แต่มีเสียงสะท้อนว่าลงไปในพื้นที่แล้วชาว บ้านไม่ค่อยเข้าใจ ท้องถิ่นท้องที่ยังต่อไม่ติด ดังนั้น จะนำงบประมาณไปให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ไปทำงานร่วมกับจังหวัด เพื่อให้จังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ และทำแผนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศของแต่ละจังหวัดให้ชัดเจน เช่น แต่ละจังหวัดต้องมีข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกรูปแบบ มีพื้นที่ป่าเท่าไหร่ มีพื้นที่อุตสาหกรรมเท่าไหร่ จังหวัดต้องรู้หมด ถึงจะมีทิศทาง มีแผนที่จะเข้าไปแก้ไขอย่างไรบ้าง และโครงการแต่ละจังหวัดก็สามารถทำได้เลย โดยที่เอาตัวพื้นที่เป็นตัวตั้งไม่ต้องมารอโครงการจากส่วน กลาง เราต้องการมีแผนแม่บทในการแก้ปัญหาระดับจังหวัด ซึ่งจังหวัดก็จะรู้ว่าต้องทำยังไง เหตุผลเพราะว่าถ้าเราไม่มีแผนรองรับเวลาเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจะทำให้แกว่ง ถ้ามีแผนที่ชัดเจนใครจะมาเป็นผู้บริหาร เป็นผู้ว่าฯ เป็น ทสจ. ก็จะเดินตามแผนนี้ ที่สำคัญขณะนี้ ได้เปิดตัวโครงการ ทสจ.ลงในพื้นที่ทำงานเรื่องโลกร้อนกับผู้ว่าฯ ไปแล้ว และได้มอบนโยบายให้ ทสจ.ไปแล้ว โดยได้ให้ปลัดฯ มหาดไทย มาร่วมมอบนโยบายในส่วนของมหาดไทยด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะต้องทำงานร่วมกันกับจังหวัด” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ฉายภาพการทำงานของกรม Climate Change

นั่นหมายความว่าปี 2566-2567 เราจะได้เห็นแผนโลกร้อนของทุกจังหวัด และแผนโลกร้อนของแต่ละจังหวัดจะถูกนำเข้าการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) หรือ TCAC ซึ่งเป็นเวทีการประชุมที่จำลองรูปแบบของการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก แต่ย่อส่วนลงมาเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอเป้าหมายและทิศทางการทำงานที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาโลกร้อนจากแต่ละจังหวัดของประเทศไทยและผลจากการประชุม TCAC จะนำเข้าที่ประชุม COP แต่ละครั้งด้วย

“การประชุม COP ครั้งที่ 28 จะประชุมที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทยจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดมาประมวลเพื่อเป็นภาพรวมของประเทศไปนำเสนอ เพราะถ้าเราสามารถผลักดันลงไปถึงในจังหวัดได้หรือในพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จะชี้ให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อนลงไปถึงระดับพื้นที่เลย เพราะที่ผ่านมาก็จะมีแต่เอกชนรายใหญ่ๆทำ แต่วันนี้เรากำลังจะยึดโยงไปถึงพื้นที่ข้างล่างด้วย เอาข้างล่างข้างบนมาชนกัน ผมคิดว่าก็จะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอย่างมากและการแก้ปัญหาโลกร้อนจะกลายเป็นวงจรการทำงาน เป็นระบบการทำงานที่ขับเคลื่อนไปแบบเป็นอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นปีหน้าจะทำงานในเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มข้นมากกว่าเดิม และจะใช้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกองคาพยพรวมทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมมาร่วมกันทำงาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทุกองคาพยพ และ ทส.จะเข้าไปเป็นจุดศูนย์รวมในการเข้าไปร่วมกับแต่ละภาคส่วน” นายจตุพร กล่าว

...

พร้อมกันนี้ ยังมีงานอื่นที่จะไปเสริมเป้าหมายเรื่องโลกร้อน เช่น การปลูกป่า โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ให้ได้พื้นที่สีเขียว 55% เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ว่าที่จริงแล้วทุกส่วนราชการต้องช่วยกัน ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยค่อนข้างสูง การปลูกป่าก็มีจำนวนจำกัด ที่สำคัญ ขณะนี้ได้ขอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปศึกษาดูว่าการดูดซับของต้นไม้แต่ละประเภทที่เราทำไว้ เช่น ไม้สัก ป่าโกงกาง ดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ได้เท่าไหร่ โดยผลการศึกษาน่าจะเสร็จเร็วๆนี้ แล้วก็จะเอามาทบทวนใหม่ อาจจะได้ตัวเลขปริมาณการดูดซับมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเข้าสู่นโยบายหรือเจตจำนงที่ประเทศไทยประกาศในที่ประชุม COP26 คือการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 แน่นอนว่า ถ้าเราสามารถทำทุกมิติ จะทำให้การเข้าไปสู่เป้าหมายที่เราวางไว้ในระดับโลกได้เร็วขึ้น

ทั้ง ทส.ยังมีการหารือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้มีภาควิชาโลกร้อนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นมา เพื่อฝึกคน เพื่อรับมือกับโลกร้อนด้วย และยังมีการคุยกับอธิการบดีในอีกหลายมหาวิทยาลัย เพื่อวางแผนการจัดกลุ่มวิชาโลกร้อนด้วย

...

“ถ้าทำเรื่องโลกร้อนพร้อมๆกันทุกองคาพยพ เชื่อว่า ความเข้าใจของประชาชนในเรื่องโลกร้อนจะมีมากขึ้น เพียงแต่ว่าเราต้องให้ทุกคนเข้าใจ เหมือนว่าวันนี้ตื่นขึ้นมาต้องมีจิตสำนึกแล้วว่าการจะกระทำอะไรบางอย่างมันกระทบต่อโลกอย่างไร โลกมีใบเดียว ถ้าเราทำอะไรลงไปสิ่งที่เกิดขึ้นจะไปกระทบกับลูกหลานเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันนี้เราเห็นทั้งดินโคลนถล่ม น้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่สมดุลหรือที่เรียกว่า โลกรวน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนตื่นมาแล้วรู้สึกกลัวว่าถ้าเราไม่ทำอะไร ลูกหลานเราจะอยู่ยังไง แล้วทุกคนก็จะกลับเข้ามาดูแลเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การคัดแยกขยะ การไม่ทานอาหารเหลือทิ้ง การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้ามาสู่ในจุดที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ นี่คือสิ่งที่กรม Climate Change ต้องทำ” ปลัด ทส. ระบุ

จากนี้ คงต้องจับตาดูบทบาทกรม Climate Change ของ ทส.ว่าจะรับมือกับสถานการณ์โลกร้อน-โลกรวนและเป็นความหวังให้ประเทศได้มากน้อยเพียงใด.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม