"นริศ" อวยพรปีใหม่ หวังปี 2566 เป็นปีแห่งการอยู่ดีกินดีของประชาชน เชื่อ มาตรการรัฐออกดอกผลช่วยประเทศก้าวเดินอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยยิ้มออกได้ มีความมั่งคั่ง สุขกาย สบายใจ หลังห่างหายไปกว่า 3 ปี

 
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 65 นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับโอกาสและความท้าทายต่างๆ ที่วิ่งเข้ามาหาอย่างไม่ขาดสาย โดยความท้าทายหลักและเป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ซึ่งผลที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นการยอมรับในระดับนานาชาติเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด การคาดการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากหลายสถาบันการเงิน การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ และการฟื้นตัวของผู้ประกอบการรายย่อย ก็คุ้มค่ากับความทุ่มเทของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชน ที่ร่วมกันผลักดัน เชื่อมั่น และผ่านความท้าทายเหล่านี้มาด้วยกัน เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นย่างก้าวที่เชื่องช้า แต่จะเป็นย่างก้าวที่มั่นคงและแข็งแรงเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
 
นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยก็เป็นอีกประเด็นปัญหาท้าทายประการหนึ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญมาโดยตลอดในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมกว่า 66 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ล้านครัวเลือน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น รวมทั้งมีการอนุมัติกรอบวงเงินเยียวยากว่า 6 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ จากบทเรียนด้านภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในช่วงหลายปีมานี้ ก่อให้เกิดโอกาสสำคัญในการส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกไปพูดคุยในเวที APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นั่นคือการผลักดันนโยบาย BCG ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้เกิดเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนสนับสนุนและผลักดันมาตลอด
 
นายนริศ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของการเผชิญหน้ากับโอกาสครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทยในปี 2565 คือ การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 ก็เป็นหนึ่งในเวทีแจ้งเกิด Soft Power และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยหลายชนิด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยที่ได้ขึ้นโต๊ะเสิร์ฟเป็นอาหารรับรองผู้นำชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ของดี 5 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม เนื้อโคขุนโพนยางคำจากจังหวัดสกลนคร ปลากุเลาตากแห้งจากจังหวัดนราธิวาส ไวน์เขาใหญ่และผ้าไหมปักธงชัยจากจังหวัดนครราชสีมา ส้มโอนครชัยศรีจากจังหวัดนครปฐม ไข่เค็มไชยาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกล้วยตากพบพระจากจังหวัดตาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของขึ้นชื่อ มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเร่งผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างตลาดในต่างประเทศ และส่งออกผลิตภัณฑ์ GI กว่า 171 รายการ ให้กลายเป็นที่รู้จักและสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับชุมชน และประเทศชาติต่อไป
 
นายนริศ กล่าวถึงสิ่งที่อยากเห็นในปี 2566 ว่า การเห็นประชาชนอยู่ดีกินดีคือเป้าหมายสูงสุดที่ตนอยากเห็น และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนทุกคนหวังให้เกิดขึ้นจริง เพราะเราต่างบอบช้ำจากการระบาดโควิด-19 มากว่า 3 ปี ดอกผลของความพยายามในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะเริ่มเบ่งบานผลิดอกออกผลให้พวกเราได้เก็บเกี่ยวความมั่งคั่ง ความสุขกาย ความสบายใจ อยากเห็นคนไทยยิ้มออกได้อีกครั้ง และตนเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นในปี 2566 อย่างแน่นอน
 
"ท้ายที่สุดนี้ ผมขอส่งความปรารถนาดีให้ทุกท่าน ผมเชื่อมั่นว่าในปี 2566 จะเป็นปีที่พี่น้องประชาชนคนไทยมีความสุขกาย สบายใจ เพราะปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขให้เข้าที่เข้าทาง การระบาดของโควิด-19 จะลดน้อยถอยลงไป ดอกผลมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจะช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมกับคืนความสุข คืนรอยยิ้มให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยที่ห่างหายไปกว่า 3 ปี ให้กลับคืนมา" นายนริศ กล่าว.

...