"ศักดิ์สยาม" เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 "ปีใหม่ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน" ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ เน้นย้ำ ต้องส่งพี่น้องฉลองปีใหม่ถึงที่หมายทั้งไปและกลับอย่างปลอดภัย
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.65 ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 "ปีใหม่ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน" จัดโดยมูลนิธิเมาไม่ขับร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาการรองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และรองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ให้การต้อนรับ
...
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัย และความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน อันเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับขี่ขณะมึนเมา ง่วงแล้วขับ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ไม่สวมหมวกนิรภัย และการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ซึ่งกว่าร้อยละ 85 ของยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถจักรยานยนต์
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในช่วงปีใหม่ 2566 นี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดนโยบายในการอำนวยความสะดวกการบริการขนส่งสาธารณะ และโครงข่ายคมนาคมอย่างบูรณาการ ภายใต้นโยบายสำคัญ "ส่งพี่น้องเดินทางช่วงปีใหม่ 2566 ถึงที่หมายอย่างสะดวกและปลอดภัย ทั้งไปและกลับ" ได้มอบให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯเตรียมความพร้อม กำกับดูแลการให้บริการการขนส่งสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และแจ้งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญในการเดินทางให้แก่ประชาชนทราบล่วงหน้า รวมถึงปรับปรุงท้องถนนให้มีความสะดวกและปลอดภัย ทำการปิดจุดกลับรถจุดเสี่ยง จัดทำป้ายเตือนพื้นที่ก่อสร้าง ทางโค้ง ทางแยกอันตรายให้ชัดเจน เฝ้าระวังจุดตัดรถไฟกับถนน และคืนพื้นผิวจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ติดตั้งป้ายสัญญาณเตือน และไฟฟ้าส่องสว่าง รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งสินค้า หลีกเลี่ยงการใช้งานรถบรรทุกในช่วงเทศกาล เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจร และลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการรณรงค์รักษากฎจราจร ขับขี่มีน้ำใจ คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัยตลอดการเดินทางและที่สำคัญ คือ เมาไม่ขับ ง่วงต้องพัก นอกจากนั้นแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ฝากความห่วงใยมายังประชาชน โดยขอเชิญชวนให้ประชาชนยังคงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และที่สำคัญ คือ ขอให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นฟรี ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขได้ทั่วประเทศ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของ รฟท. คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางโดยรถไฟเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ตั๋วโดยสารของขบวนรถที่ให้บริการเป็นประจำถูกจองเต็มหมดทุกชั้นทุกขบวนแล้ว และยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ดังนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ รฟท.จึงเปิดให้บริการขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารเพิ่มอีก จำนวน 6 ขบวน ไป-กลับในเส้นทางสายเหนือ 2 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ขบวน ซึ่งเป็นรถนั่งชั้น 3 จำนวน 54 คัน รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มประมาณ 8,000 คน/วันขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร จำนวน 6 ขบวน ประกอบด้วย
...
เที่ยวไป วันที่ 29 ธันวาคม 2565 จำนวน 3 ขบวน
- สายเหนือ 1 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 955 กรุงเทพ-ศิลาอาสน์
- สายตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 967 กรุงเทพ-อุดรธานี และขบวนรถที่ 977 กรุงเทพ-อุบลราชธานี
เที่ยวกลับ วันที่ 2 มกราคม 2566 จำนวน 3 ขบวน
- สายเหนือ 1 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 962 ศิลาอาสน์-กรุงเทพ
- สายตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 934 อุบลราชธานี-กรุงเทพ และขบวนรถที่ 936 อุดรธานี-กรุงเทพ
นอกจากนี้ รฟท.ได้มีการพ่วงตู้โดยสารของรถทุกขบวนให้เต็มหน่วยลากจูง เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565-4 มกราคม 2566 โดยจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 100,000 คนต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการเดินทาง และไม่มีผู้โดยสารตกค้าง รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยการเดินทางแก่ประชาชน พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ สารเสพติดของพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่ประจำขบวนรถ และประจำสถานีก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนขบวนรถ และบริเวณสถานีรถไฟ
...
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ (29 ธันวาคม 2565) มีการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และอันตรายจากการเมาแล้วขับ พิธีปล่อยแถวตำรวจรถไฟเพื่อให้บริการดูแลความสะดวกปลอดภัยประชาชน และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันแจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สติกเกอร์ แผ่นพับคู่มือการปฏิบัติตนเองในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 อย่างไรให้ปลอดภัย และมีการจัดเสวนา "ฉลองปีใหม่อย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ" โดยมีเหยื่อเมาแล้วขับร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์