ย่างสู่ปีเถาะ 2566 อปท.นิวส์โพลกะเทาะใจคนไทย พบมองการเมืองติดลบเพราะเอาแต่แย่งชิงอำนาจไม่ทำงานเพื่อประชาชน อยากให้รีบยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.มีฝีมือกอบกู้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนใหญ่เชื่อโควิด-19 หมดฤทธิ์เพราะเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว

นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ ผู้อำนวยการ อปท.นิวส์โพล และ รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม2565 ภายใต้หัวข้อ“ ปีเถาะ-กะเทาะใจคนไทย 2566” โดยได้ออกแบบสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมลงสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 1,524 รายจากพื้นที่ 6 กลุ่มเขตกรุงเทพมหานครได้แก่ กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพมหานครกลาง กลุ่มเขตกรุงธนใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ และกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ

ผลการสำรวจด้านพื้นฐานทั่วไปพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายให้ข้อมูลมากที่สุดร้อยละ 51.8 รองลงมาเป็นเพศหญิงจำนวนร้อยละ 48.2 กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุอยู่ระหว่าง 18-25 ปี มีจำนวนร้อยละ 17.9รองลงมามีอายุ 26-30 ปี มีจำนวนร้อยละ 15.9 อายุ 31-35 ปี มีจำนวนร้อยละ11.9 อายุ 41-45 ปี มีจำนวนร้อยละ 10.8 ส่วนกลุ่มอายุ 36-40 ปี และ 46-50 ปี มีจำนวนเท่ากันร้อยละ 9.3ตามลำดับ

ทางด้านการศึกษาจะพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีจำนวนถึงร้อยละ 34.7 ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาจำนวนร้อยละ 19.4 เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและจำนวนร้อยละ 15.9 ระดับ ปวช.และอนุปริญญา ร้อยละ 13.2 ระดับ ปวส. ร้อยละ 9.1 การศึกษาระดับประถมศึกษา และร้อยละ 7.8 จบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป

ส่วนทางด้านอาชีพของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม จะพบว่า เป็นกลุ่มรับจ้างที่มีจำนวนร้อยละ 24.9 รองลงมาคือกลุ่มนักศึกษาจำนวนร้อยละ 19.7 กลุ่มอาชีพอิสระ มีจำนวนร้อยละ 16.1 กลุ่มเจ้าของธุรกิจมีจำนวนร้อยละ 14 กลุ่มรับราชการมีจำนวนร้อยละ 9.7 กลุ่มเกษตรมีจำนวนร้อยละ 6.2 ตามลำดับ

เมื่อถามทางด้านรายได้ ร้อยละ 34.4 มีรายได้อยู่ระหว่าง 10,001-20,000 บาทต่อเดือนตอบแบบสอบถามมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 19.2 เท่ากันคือกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 5,001-10,000 บาท และ 20,001-30,000 บาทต่อเดือนและร้อยละ 16.3 ของกลุ่มตัวอย่างมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนตามลำดับ

สำหรับการสอบถามความคิดเห็นทางด้านการเมืองว่า “รู้สึกอย่างไรกับการเมืองไทยในรอบปี 2565”

ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.2 มองว่ามีการแสวงหาอำนาจแย่งชิงผลประโยชน์เป็นหลัก
รองลงมาร้อยละ 17.9 ตอบว่านักการเมืองในสภาไม่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน
ส่วนความแตกแยกยังไม่ปรองดองผู้สอบถามตอบมีจำนวนถึงร้อยละ 16.6
และ พายเรือในอ่าง (วนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่พัฒนา) มีจำนวนร้อยละ 15.4
อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ร้อยละ 9.6

เมื่อถามว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันควรให้อะไรเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนในทางการเมือง”

กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.1 ตอบว่าขอให้ยุบสภาทันที และจัดการเลือกตั้งใหม่

รองลงมาร้อยละ 30.7 ตอบว่าไม่คาดหวังรัฐบาล
ร้อยละ 11.2 ตอบว่าอยากให้รัฐบาลสั่งข้าราชการให้ทำงานเต็ม 100
ร้อยละ 10.7 ตอบว่าต้องการให้รัฐบาลปรับ ครม.เอาคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในเวลาที่เหลือ
แต่ยังมีร้อยละ 6.3 ที่อยากให้รัฐบาลอยู่ให้ครบวาระจนถึงเดือนมีนาคม 2566

ถามต่อไปว่า “นายกรัฐมนตรีคนต่อไปควรมีคุณสมบัติข้อใดมากที่สุด”

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 43.4 ตอบว่าเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง
รองลงมาร้อยละ 33.7 ตอบว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ
ถัดมาร้อยละ 10.6 ตอบว่าเป็นคนดีไม่โกงกิน
ร้อยละ 6 ตอบว่าเป็นใครก็ได้ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภา
สุดท้ายร้อยละ 5.6 ต้องเป็นคนที่ไม่สร้างความแตกแยกทางการเมือง

ถามถึง รัฐบาลชุดใหม่คิดว่าจะมีหน้าตาอย่างไร

กลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 44.7 ตอบว่าคงเป็นรัฐบาลผสมไม่เกิน 3 พรรค
รองลงมาร้อยละ 28.9 ตอบว่าจะมาจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียว
ร้อยละ 14.8 ตอบว่าคงเป็นรัฐบาลผสมมากกว่า 3 พรรค
และร้อยละ 11.6 ตอบว่าคงเป็นรัฐบาลผสมมากกว่า 3 พรรค และมีคนนอกเข้าร่วม

ข้อสุดท้ายในหมวดการเมืองถามว่า “รัฐบาลใหม่ควรทำเรื่องใดเป็นอันดับแรก”

กลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 39.3 ตอบว่าควรแก้ปัญหาค่าครองชีพและลดราคาสินค้า
รองลงมาร้อยละ 19.6 ตอบว่าควรปราบคอร์รัปชันในวงการราชการ
ถัดมาร้อยละ 10.9 ตอบว่าควรเร่งสร้างงาน ปรับเพิ่มค่าจ้าง
ร้อยละ 10.6 ตอบว่าควรกวาดล้างยาเสพติดที่แพร่ระบาด
และร้อยละ 5.5 เห็นว่าควรผ่าตัดระบบการศึกษาที่ล้าสมัย

ในหมวดเศรษฐกิจเริ่มจากคำถามว่า “รู้สึกอย่างไรกับสภาพเศรษฐกิจในรอบปี 2565”

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 61.3 ตอบว่ารู้สึกว่าแย่
รองลงมาร้อยละ 24.7 ตอบว่ารู้สึกว่าสภาพเศรษฐกิจขึ้นๆลงๆ
แต่มีผู้ตอบจำนวนร้อยละ 7.2 ตอบว่าสภาพเศรษฐกิจรู้สึกว่าดีกว่าปี 2564
สุดท้ายร้อยละ 6.8 ตอบว่ารู้สึกว่าปกติ

ถามต่อไปว่า “คิดว่าโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในปี 2566 อย่างไรหรือไม่”

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 57 เห็นว่าไม่มีผลเพราะโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
รองลงมาร้อยละ 54.5 ตอบว่าจะยังระบาดแต่ไม่รุนแรงอาจมีผลทางเศรษฐกิจบ้าง
ร้อยละ 35.3 ตอบว่าน่าจะมีวัคซีนใหม่ที่หยุดยั้งโควิด-19ได้
อย่างไรก็ตามร้อยละ 29.8 ตอบว่า ยังไม่มีความแน่นอน
และผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 21.2 เชื่อว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดรุนแรงส่งผลกระทบมาก

ต่อคำถามที่ว่า “คิดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเป็นอย่างไร”

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นร้อยละ 51.8 ตอบว่าคิดว่าดีขึ้นเพราะจะมีรัฐบาลชุดใหม่
รองลงมาร้อยละ 47.1 ตอบว่า ดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว
ร้อยละ 44.2ตอบว่า ดีขึ้นแน่เพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาแล้ว
ร้อยละ 36.5 ตอบว่าอาจจะแย่ลงได้หากได้รัฐบาลใหม่ที่ไร้ประสิทธิภาพ
ร้อยละ 31.7 ตอบว่ายังไม่แน่นอนเพราะเศรษฐกิจโลกอาจผันผวน
และร้อยละ 21.3 ตอบว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าน่าจะทรงตัวเหมือนปี 2565

สุดท้ายเมื่อถามว่า “รัฐบาลควรใช้นโยบายใดเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในปี2566”

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 80.1 ตอบว่าอยากให้รัฐบาลลดราคาน้ำมัน
รองลงร้อยละ 79.9 อยากให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า
ร้อยละ 72.5 อยากให้รัฐบาลลดภาษี
ร้อยละ 43.7 อยากให้รัฐบาลลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า
ร้อยละ 39 อยากให้รัฐบาลลดราคาก๊าซหุงต้ม นอกจากนั้นยังอยากให้รัฐบาลลดค่าเล่าเรียน ลดราคาเนื้อสัตว์ เพิ่มเงินดูแลคนชรา ฯลฯ