ในสถานการณ์ภาวะโลกรวน ที่สร้างความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบในหลายด้าน ซึ่งเป็นผลจากการที่มนุษย์ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น การปล่อยน้ำเสีย การทำประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายระบบนิเวศ รวมถึงมลพิษจากขยะ ผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ซึ่งวิธีการที่จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นอกจากการปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้พื้นที่ป่าบนบกเพื่อดูดซับคาร์บอนฯ ที่เรียกว่า Green Carbon แล้ว การขยายพื้นที่ของป่าชายเลน พื้นที่ของหญ้าทะเล เพื่อเพิ่มการดูดซับอย่าง Blue Carbon หรือคาร์บอนฯ ที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล ก็สามารถเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนฯ ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบลูคาร์บอนมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนฯ สูงกว่าป่าไม้ถึง 7-10 เท่า
สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว ร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ในโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ที่หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี โดยที่ผ่านมาพบว่าหญ้าทะเลที่ปลูกไปเมื่อต้นปี 2565 กว่า 20,000 ต้น สามารถฟื้นฟูและทำให้พื้นที่หญ้าทะเลในพื้นที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งกับระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่หลบภัย วางไข่ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ที่สำคัญหญ้าทะเลยังสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า ตามข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN)
ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี กล่าวว่า “หญ้าทะเลมีศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในทะเลสูงมาก แม้มีพื้นที่เพียงร้อยละ 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งโลก แต่มีความสามารถในการเก็บคาร์บอนมากถึงร้อยละ 10 ของปริมาณคาร์บอนที่พบทั้งหมดในมหาสมุทร และโชคดีที่จันทบุรียังมีพื้นที่หญ้าทะเลที่พอฟื้นฟูได้ สำหรับโครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสิงห์อาสา คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ชาวบ้านจิตอาสา นำหญ้าทะเลมาปลูกบริเวณหาดเจ้า ทำให้พื้นที่หญ้าทะเลในพื้นที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ซึ่งหากในอนาคตพวกเราสามารถขยายพันธุ์ได้อีก หญ้าทะเลเหล่านี้ก็จะเพิ่มศักยภาพในการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกด้วย”
คุณดวงทิพย์ญามน ชักชวนวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านเจ้าหลาวหัวแหลม ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า “หลายปีที่ผ่านมา สัตว์ทะเลเริ่มน้อยลง ชาวบ้านก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และพอสิงห์อาสาเข้ามาทำโครงการนี้ มาปลูกหญ้าทะเล และมาให้ความรู้เรื่องหญ้าทะเล ชาวบ้านก็เริ่มรู้ถึงประโยชน์ของหญ้าทะเลว่านอกจากเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล เป็นแหล่งอาหารแล้ว หญ้าทะเลยังช่วยลดภาวะโลกรวน เพราะหญ้าทะเลช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านที่นี่เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง”
คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “สิงห์อาสาได้ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ปลูกหญ้าทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งหญ้าทะเลมีความสำคัญมากไม่เพียงแต่ในระบบนิเวศแต่ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศทะเล ปัจจุบันประเด็นหลักๆ ในการเกิดภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกรวนมาจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป การปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนฯ ในอากาศได้ ในขณะเดียวกันหญ้าทะเลก็มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนฯ ในระบบนิเวศทะเล หรือที่เรียกว่า Blue Carbon ซึ่งมีความสามารถมากกว่าต้นไม้มากถึง 10 เท่า ซึ่งโครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเยาวชนและชาวบ้าน สามารถช่วยกันดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน แม้ว่าสิ่งที่ทำจะเห็นผลช้า ซึ่งอาจจะนานไปจนถึงคนรุ่นต่อไป แต่ก็เป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันตั้งแต่วันนี้”
“โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” เป็นหนึ่งในภารกิจของสิงห์อาสาที่ทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ในจังหวัดชายทะเลทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สิงห์อาสา ยังมีภารกิจที่ทำให้ “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” โดยร่วมกับเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยในปีนี้มุ่งเน้นที่การดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งดูแลป่าต้นน้ำในเขตจังหวัดภาคเหนือ การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดภาคอีสาน การดูแลสายน้ำในจังหวัดภาคกลาง และภารกิจสร้างความยั่งยืนให้ทะเลไทยทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้