สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA (Digital Government Development Agency) เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่น เกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ล่าสุดกับการผลักดัน ขับเคลื่อน พัฒนา ระบบท้องถิ่นดิจิทัล (Digital Government Platform) ไปสู่ยุคดิจิทัล ขานรับนโยบายรัฐบาลนำภาครัฐ “ทุกภาคส่วน” มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกทุกที่ ทุกเวลา
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวถึง ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ว่า “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล เป็นแพลตฟอร์มกลาง หรือเครื่องมือพร้อมใช้ ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนงานบริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินงานบริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล และยังเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับงานบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่น ๆ เพื่อให้เกิดการนำเครื่องมือพร้อมใช้ ไปประยุกต์ใช้งานในหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในงานบริการประชาชน
ที่มาของ ‘ระบบท้องถิ่นดิจิทัล นั้น เริ่มจากพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อให้การบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตอบสนองการให้บริการ DGA ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐ ในการปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยที่ผ่านมา DGA ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 56 แห่ง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบสำหรับบริหารจัดการงานของ อปท. ตลอดจนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอื่น ๆ ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมภาครัฐ ยกระดับการให้บริการภาครัฐไปสู่ความเป็น “ท้องถิ่นดิจิทัล” ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นพัฒนาโครงการระบบท้องถิ่นดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกภาครัฐในระดับท้องถิ่นให้ได้รับความสะดวกในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล สนับสนุนทั้งการศึกษา วิจัย พัฒนาระบบสารสนเทศ ตลอดจนส่งเสริมกระบวนงานทำงานของ อปท. สำหรับอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน และภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ระบบท้องถิ่นดิจิทัลยังรองรับและสอดคล้องตาม พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งประกาศออกมา เพื่อลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย พัฒนาการให้บริการประชาชน และขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนจึงต้องเตรียมพร้อม เพราะต่อจากนี้การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการให้บริการของหน่วยงานรัฐแก่ประชาชนจะต้องสามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ทางด้าน นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้เผยถึงคุณลักษณะเด่นของ ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ว่า “ระบบนี้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ใช้บริการ สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้หลากหลายผ่านช่องทางดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหน่วยงานภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้โดยง่าย จัดเก็บข้อมูล ติดตาม และให้บริการอย่างเป็นระบบ สามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานและให้บริการประชาชน โดย DGA พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน และการบริหารจัดการของ อปท. ตลอดจนให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมอื่น ๆ รวมไปถึงการจัดฝึกอบรม สัมมนา และกิจกรรมวิชาการด้วย
ระบบท้องถิ่นดิจิทัล เป็นระบบบริการประชาชนที่ประกอบด้วย 5 บริการหลัก คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS), ระบบขออนุญาตก่อสร้าง (สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม.) ประชาชนขออนุญาตได้ด้วยตนเอง ปักหมุดสถานที่ก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์, ระบบออกหนังสือรับรองแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารออนไลน์ ประชาชนขอหนังสือรับรองฯ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์, ระบบชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อาทิ ค่าขยะ ค่าบำบัดน้ำเสีย ผ่านระบบออนไลน์ โดยเพียงสแกน QR Code และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับ-ส่งหนังสือราชการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้สะดวกรวดเร็วและประหยัดในการจัดพิมพ์เอกสารและจัดหาแฟ้มเก็บเอกสารอีกต่อไป”
ดร.สุพจน์ กล่าวว่า “DGA ให้ความสำคัญการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง เราจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (Digital Government Technology & Innovation Center) หรือ DGTi ขึ้น พร้อมจัดโครงการประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัลมาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเฟ้นหา อปท. ที่มีผลงานโดดเด่น มีความรู้ ความสามารถในการประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้แนวคิด ‘ท้องถิ่นดิจิทัล เปลี่ยนแนวคิด พลิกรูปแบบการทำงาน’ เวทีนี้ให้โอกาสองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำเสนอผลงานดิจิทัลโซลูชันในการให้บริการประชาชน เพื่อสนับสนุนการก้าวสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยกระดับความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการภาครัฐของประชาชน เพื่องานบริการประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ เพื่ออํานวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน และในการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ”
ระบบท้องถิ่นดิจิทัลเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่เป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในหมุดหมายที่ 13 ภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน และการนำพาประเทศสู่รัฐบาลดิจิทัล (Smart Nation / Smart Life)” ดร.สุพจน์ ได้เผยว่า “เป้าหมายของ DGA คือการทำให้เกิดภาพความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐบาลดิจิทัลขึ้นในประเทศไทย สร้างประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัยเท่าทันโลก (Smart Nation) โดย DGA มีบทบาทในการขับเคลื่อนและเชื่อมต่อกับหลากหลายหน่วยงาน มีจุดมุ่งหมายหลักที่สำคัญ คือ การสร้างความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน (Smart Life) สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล ที่มีแนวทางขับเคลื่อนประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการดิจิทัลภาครัฐ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ หน่วยงานรัฐจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันวางแผน และพัฒนาการดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ร่วมกันสร้างมิติใหม่การให้บริการประชาชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศทั้ง อบต. เทศบาล และ อบจ. นั้น นับได้ว่าเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ ย่อมสร้างให้เกิดการเข้าถึงบริการรัฐที่ง่ายขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ ภารกิจนี้สะท้อนว่า DGA ให้ความสำคัญแก่ทุกภาคส่วน เราไม่เพียงขับเคลื่อนในส่วนกลาง แต่พร้อมสนับสนุนส่วนงานระดับท้องถิ่นอย่างเต็มความสามารถด้วย
เพราะสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA เป็นหน่วยงานหลักในด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เราจะส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานรัฐทั้งในด้านการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ การให้คำปรึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และให้บริการระบบงานจากหน่วยงานกลางต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนทุกหน่วยงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลไปด้วยกัน และนี่จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดระบบการทำงานแบบใหม่ เชื่อมโยงข้อมูลการทำงานระหว่างกันของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว มีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล สร้างการทำงานที่เปิดเผย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มความสะดวก ตลอดจนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในงานบริการ และเป็นไปตามเจตนาและหลักการที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ”
นายณัฐวัชร์ กล่าวเสริมทิ้งท้าย ถึงประชาชนและหน่วยงานที่จะใช้ระบบท้องถิ่นดิจิทัล อีกว่า “DGA มุ่งหวังให้ประชาชนในระดับท้องถิ่น ได้สัมผัสกับบริการภาครัฐที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐที่หลากหลายผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถติดตามสถานะการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา ย้ำเป็นสำคัญคือ ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางติดต่อหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอรับการบริการต่าง ๆ และ DGA ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมปรับเปลี่ยนและนำระบบดิจิทัลมาสร้างเป็นบริการมิติใหม่แก่ประชาชน ดังนั้น หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดหากได้รับทราบ และสนใจโครงการนี้ ท่านสามารถติดต่อสอบถาม หรือปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติมกับทาง DGA ได้ที่ contact@dga.or.th หรือ 02-612-6060”