นายฉันทานท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยผลสรุปภาวะเศรษฐกิจการเกษตรประจำปี 2565 ว่า ขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งแรกของปีมีมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำเพียงพอ เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตมากขึ้น

สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.1 เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ แม้ว่าในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 บางพื้นที่ของประเทศจะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหาย แต่การผลิตพืชส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น พืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย และทุเรียน ส่วนพืชที่ลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา มังคุด และเงาะ

“สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 3.0 สุกรมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ขณะที่มีเกษตรกรบางส่วนชะลอการเลี้ยงจากราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ไข่ไก่มีผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง และน้ำนมดิบมีผลผลิตลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนม ทำให้แม่โคผสมพันธุ์ติดยากและรีดนมได้ลดลง

...

สำหรับสินค้าปศุสัตว์ที่การขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และโคเนื้อ เนื่องจากไก่เนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โคเนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการควบคุมและป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด รวมทั้งภาครัฐมีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง”

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 2.0 ด้วยมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการทำประมง ทำให้สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลงอย่างมาก ขณะที่ปลานิลและปลาดุกผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรลดการปล่อยลูกพันธุ์ปลาเพื่อลดภาระต้นทุนค่าอาหารที่แพงขึ้น ประกอบกับเกิดอุทกภัยในแหล่งเลี้ยงปลานิลและปลาดุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.7 เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ราคาอ้อยโรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นมาปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง และอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ การก่อสร้าง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ครั่งเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศและความต้องการในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยา อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ รังนกมีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปีหน้า คาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 2.0-3.0 เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงพอเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและ สถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ราคาปัจจัยการผลิต น้ำมัน ปุ๋ย สารเคมีกำจัดโรคและแมลง วัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงอยู่ในระดับสูง การระบาดของโรคพืชและสัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้ง” นายฉันทานท์ กล่าว.

...