73 ปี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นสพ.ที่มีจำนวนจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ

หากเทียบกับอายุคน 73 ปี นับว่าเดินทางมาเกินครึ่งค่อนชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาว ยืนหยัดฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหา ต่อสู้กับอิทธิพลมืด และอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ เพื่อยืนหยัดเคียงข้างประชาชน แสวงหาความยุติธรรม และความเป็นธรรมสู่สังคมไทย ทั้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆมาอย่างโชกโชน

สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่มีอายุยาวนานมาถึง 7 ทศวรรษ ด้วยการนำเสนอข่าว และสารประโยชน์ อย่างเที่ยงตรง แม่นยำ รวดเร็ว รอบด้าน และนับเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเหตุการณ์สำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์บ้านเมือง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และบุคคลสำคัญ แน่นอนว่าต้องได้รับการยอมรับ เชื่อถือ และศรัทธาจากประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยรัฐทุกคนภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ภายใต้การนำของ นายกำพล วัชรพล ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการหนังสือพิมพ์ไทย ผู้ซึ่งหนังสือ “paper tiger” ของอังกฤษได้ยกย่องเมื่อ พ.ศ.2536 ว่าเป็น 1 ใน 25 คนของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ได้เริ่มต้นเส้นทางการทำหนังสือ มาตั้งแต่ พ.ศ.2493 ผ่านอุปสรรค ปัญหา และอำนาจรัฐจนถูกสั่งปิดไปเมื่อ พ.ศ.2501 และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในชื่อ หนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” และกลายเป็น

หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยเครื่องพิมพ์ที่ทันสมัยที่สุด

“หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรตอบแทนประชาชน” และ

“ผมเรียนมาน้อย ต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก พอมีฐานะขึ้นมาอย่างนี้ จึงอยากสนับสนุนการศึกษา ช่วยเด็กยากจนได้มีโอกาส”

คำพูดของ นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มักกล่าวกับคนใกล้ชิดเสมอมา
นั่นคือที่มาและจุดเริ่มต้นอันเป็นที่มาของ โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท โดยการสร้าง ร.ร.ไทยรัฐวิทยาแห่งแรก ที่ จ.ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2512 ด้วยเงินรายได้จากการขายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากนั้นก็สร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีจำนวนถึง 101 โรง ทั่วประเทศ ต่อมานายกำพลได้ใช้เงินส่วนตัว 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐขึ้นเมื่อท่านอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 27 ธันวาคม 2522 โดยให้มูลนิธินี้ทำหน้าที่อุปการะโรงเรียนไทยรัฐวิทยา

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้สร้าง ร.ร.ไทยรัฐวิทยา เพื่อมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการให้โอกาสแก่เยาวชนในชนบท ให้ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกับเยาวชนในพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว ด้วยการสร้างอาคารเรียนหลัก กับอาคารเรียนประกอบ ทั้งให้เงินเพิ่มค่าอาหารกลางวัน แจกเครื่องแบบนักเรียน ตลอดทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน การจ้างครูพิเศษเพิ่ม ครูสอนภาษาอังกฤษ สอนนาฏศิลป์ รวมโครงการอุปการะเกื้อหนุนการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผู้บริหารและครูผู้สอน รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 20 โครงการในแต่ละปี

เพื่อให้ ร.ร.ไทยรัฐวิทยา เป็นแหล่งบ่มเพาะผลิตคนดีมีวิชา ทางมูลนิธิไทยรัฐได้ทำงานใกล้ชิดกับทางราชการโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เช่น การกำหนดให้มีการเรียน การสอนวิชาที่พึงเรียนเพิ่มเติมจากที่มีการเรียนการสอนโดยทั่วๆไป จำนวน 2 วิชา คือ 1.วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อสารมวลชน และ 2.วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ทั้งต่อไปจะส่งเสริมและสนับสนุนให้นำวิชาประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ควรลืมมาสอนใน ร.ร.ไทยรัฐวิทยา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม ประสบการณ์และการสร้างสรรค์ของมนุษย์ตลอดจนเข้าใจสภาพแวดล้อมในแต่ละสมัย ดังที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระนิพนธ์คำสอนประวัติศาสตร์ ตอนหนึ่งว่า “วิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเราอย่างมาก ทุกสังคมมีรากฐานที่ปรับเปลี่ยนมาจากอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และพัฒนาต่อไปในอนาคต วิชาประวัติศาสตร์เน้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม ประสบการณ์ และการสร้างสรรค์ของมนุษย์ และสภาพสังคมแวดล้อมในแต่ละสมัย”

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

วันที่ชาวไทยรัฐปลื้มปีติ และภาคภูมิใจ ทั้งเป็นวันที่คนไทยได้รับข่าวที่น่ายินดี เนื่องด้วยองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศยกย่อง นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ในโอกาสครบ 100 ปีชาตกาล นับเป็นคนไทยลำดับที่ 28 ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก

“...การที่ยูเนสโกยกย่องนายกำพล วัชรพล เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าของโลก ถือว่าสุดยอดและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะนายกำพล วัชรพล ไม่ใช่แค่โดดเด่นในประเทศไทยแต่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีประเทศสมาชิกที่ให้การสนับสนุนในการเสนอชื่อ คือ เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้

...นายกำพล วัชรพล ได้ทำสิ่งที่ถือเป็นคุณูปการให้กับวงการศึกษาและสื่อสารมวลชน โดยก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเป็นผู้ผลักดันธุรกิจหนังสือพิมพ์มากว่า 60 ปี จนทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมียอดจำหน่ายมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นผู้นำระบบการพิมพ์หนังสือพิมพ์ของไทย ด้วยเทคโนโลยีใหม่คือ การเรียงพิมพ์ด้วยแสงมาใช้เป็นฉบับแรก นอกจากนี้ยังเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรกขึ้นที่ จ.ลพบุรี เมื่อปี 2512 และมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีมูลนิธิไทยรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ ปัจจุบันมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 โรง มีนักเรียน 30,000 คน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และกำลังก่อสร้าง ร.ร.ไทยรัฐวิทยาเพิ่มเติมอีก 10 โรง รวมเป็น 111 โรง” บางช่วงบางตอน จากการแถลงข่าวของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562)

เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญนี้ และเพื่อสืบสานปณิธานของ นายกำพล วัชรพล บรรดาสื่อมวลชนในเครือไทยรัฐ อันได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ได้เห็นพ้องต้องกันกับทายาทของ นายกำพล วัชรพล นำโดย คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ในการสืบทอดเจตนารมณ์ด้วยการเพิ่มจำนวนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาอีก 10 โรงเรียน ทำให้ปัจจุบันมี ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ทั่วราชอาณาจักร รวม 111 โรงเรียน

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมสร้างอนาคตของชาติ ด้วยวิทยาทานกับทางไทยรัฐกรุ๊ป สามารถร่วมสมทบทุนได้ที่ เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือ ที่บัญชีเงินฝาก มูลนิธิไทยรัฐ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวิภาวดีรังสิต กระแสรายวัน เลขที่ 196-3-061591

ร่วมกันสร้างอนาคตของชาติ ด้วยการให้การศึกษากับเยาวชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม