"มนัญญา" ขันนอตห่วงโซ่ทุเรียนส่งออก ดันปี 66 เป็นปีทุเรียนไทยคุณภาพ 100% สู้ศึกรักษาตลาดจีน ตั้งกรรมการผนึกชุดฉก.กรมวิชาการเกษตร กำกับตลอดสายการผลิต หากพบล้งสวมสิทธิ์ ตัดอ่อนเพิกถอนใบรับรองทันที
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 65 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ ว่าได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผัก ผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกที่ปัจจุบันมีหลายประเทศส่งออกแข่งกับไทยไปตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นไทยต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป อย่างไรก็ตามการทำงานต้องบูรณาการทั้งรัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ขอย้ำว่าต้องช่วยกันรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย ไม่ส่งผลไม้ด้อยคุณภาพ และกรณีพบส่งทุเรียนด้อยคุณภาพจะไม่อนุญาตให้ส่งออกอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนมาตลอดที่เข้ามาดูแลกรมวิชาการเกษตร 4 ปี
"นโยบายดิฉันชัดเจนว่าจะไม่มีการปล่อยผลไม้ด้อยคุณภาพอย่างเด็ดขาด ดังนั้นชุดเฉพาะกิจของกรมจะเข้าตรวจสวนและล้งเพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด หากพบว่าสวนใดมีการตัดทุเรียนอ่อน หรือยินยอมให้สวมสิทธิ์แปลงการผลิตที่ดี หรือจีเอพี (GAP) กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการเพิกถอนการรับแปลงทันที และหากโรงคัดบรรจุ หรือล้งใดที่รับซื้อทุเรียนอ่อน หรือสวมสิทธิ์แปลง GAP กรมฯ จะเพิกถอนการรับรองการเป็นโรงคัดบรรจุที่ดี (GMP) เป็นผลให้ไม่สามารถส่งออกได้อีก จะไม่ยอมผ่อนปรนให้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นกระทรวงฯ ก็จะมีกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งจะมีที่ปรึกษารมช. มาช่วยทำงานร่วมกับกรมฯ อีกด้วย เพื่อให้ปี 2566 เป็นปีของผลไม้พรีเมียม และทุเรียนพรีเมียม ยกระดับทุเรียนไทยเป็นที่ 1 ของโลก แม้จะมีทุเรียนเวียดนามเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดจีนเพิ่ม ก็ยังมั่นใจว่าทุเรียนไทยจะเป็นอันดับ 1 ในจีน จากคุณภาพของทุเรียนไทย" รมช.เกษตรฯ กล่าว
...
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ชุดทำงานเฉพาะกิจของกรมฯ จะมีรองอธิบดีเป็นประธาน และมีสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 เป็นกรรมการขึ้นตรงกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ต่อเนื่องตามแผนบริหารจัดการทุเรียนภาคตะวันออกปี 66 ดังนั้นจะไม่มีการตัดทุเรียนอ่อนอย่างเด็ดขาด หากพบ กรมฯ จะใช้อำนาจของกรมฯ พักใช้ หรือเพิกถอนจีเอพีและจีเอ็มพีของสวนและล้งที่รับซื้อทันที เพราะการผลิตผลไม้ไม่ได้มาตรฐานเป็นการผิดเงื่อนไขสำคัญของการได้รับการรับรองจะมีผลทำให้ไม่สามารถส่งออกได้
สำหรับการดำเนินการรับรองการปรับรหัสแปลงสวนใหม่นั้น กรมวิชาการเกษตรได้รับรองครบแล้ว 100% รวมถึงส่งให้ทางศุลกากรจีน (GACC) เรียบร้อย ซึ่งจะมีการบรรจุขึ้นในระบบวันที่ 26 ธันวาคม 2565 นี้ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีการรับรองแปลงจีเอพีพืชอาหารประมาณ 3 แสนกว่าแปลง เป็นทุเรียน 6 หมื่นกว่าแปลง นอกจากนั้นสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ทำมาตรฐานโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อส่งออก เป็นมาตรฐานบังคับจะประกาศในเดือน มี.ค.66 และจะมีผลใช้บังคับ ก.ย.66 ซึ่งจะมีผลให้ทุกล้งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ รายการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน สะสมตั้งแต่ 1 ก.พ. - 15 ธ.ค. 65 มีการส่งออก 47,562 ชิปเมนต์ ปริมาณ 815,276 ตัน มูลค่า 86,732.23 ล้านบาท.