ไม่ยื้อชีวิต ไม่ฝืนธรรมชาติ เพราะทุกชีวิตสุดท้ายแล้วต้องตาย เป็นสัจธรรม...

นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการ “พินัยกรรมชีวิต” ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะช่วยผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายได้และมักจะทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจไม่ให้ทุกข์ทรมาน ไม่ให้เจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้อยู่ในสภาวะที่มีการเตรียมตัว เตรียมใจให้สงบก่อนตาย

พินัยกรรมชีวิต จึงแตกต่างจากการ “การุณยฆาต” หรือการที่คนไข้ขอให้แพทย์ทําให้เสียชีวิตไปโดยปราศจากความเจ็บปวด เนื่องจากกำลังได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้

“พินัยกรรมชีวิต คือหลักธรรมทางพุทธศาสนา ว่าความตายคือสัจธรรมของชีวิต การตายเป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากจะต้อนรับความตายให้ถูกวิธี พินัยกรรมชีวิต คือการปฏิเสธการรักษาหรือบริการทางสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิต อย่าลืมว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างมาก จนทำให้การรักษาโรคต่างๆสามารถยืดเวลา “ความตาย” ออกไปเพื่อให้ การพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักช้าออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่บางครั้งลืมไปว่ายิ่งยืดเวลาความตายออกไป ผู้ป่วยก็ยิ่งทรมานมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรับอาหารผ่านสายยางได้แล้ว บางครั้งญาติผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจ ว่าที่รักษาอยู่คือการรักษาแบบประคับประคองดูอาการวันต่อวัน ซึ่งแพทย์ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว โรงพยาบาลราชพิพัฒน์จึงทำโครงการพินัยกรรมชีวิตขึ้นมา โดยมีผู้ป่วยหนักที่อยู่ใน 3 ขั้นตอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิทำพินัยกรรมชีวิต คือ 1.ใส่สายออกซิเจน 2.ใส่ท่อ และ 3.เจาะคอ” พระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม ในฐานะผู้สร้างและอุปถัมภ์โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการพินัยกรรมชีวิต

...

โครงการพินัยกรรมชีวิตเริ่มมากว่า 1 ปีแล้ว ผู้ป่วยและญาติๆต่างพอใจ เพราะไม่มีใครอยากทรมาน ผู้ป่วยหลายคนที่สติยังดี เรียกลูกหลานมาสั่งเสียว่า ถ้ารักษาไม่ได้แล้วอย่าให้พ่อกับแม่ต้องทรมาน ซึ่งลูกหลานก็จะเข้าใจและมาคุยกับคุณหมอเพื่อทำตามคำสั่งเสีย ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกคนก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ความตาย” เป็นสภาวะสุดท้ายของทุกชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น นอกเหนือจากเรื่องความเจ็บปวดแล้ว ค่าใช้จ่ายในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตก็เป็นปัญหา

"หลวงพ่อเณร" พระเทพประสิทธิมนต์
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

“มีเคสหนึ่ง มีคนไข้อายุ 85 ปี เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ค่าใช้จ่ายต่อวัน วันละกว่า 6 หมื่นบาท รักษาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้แล้ว ทำได้แต่เพียงประคับประคอง ต่อมาลูกๆเริ่มสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ถ้าอยู่ต่ออีก 10 วันก็เป็นเงิน 6 แสนบาท จึงต้องการย้ายโรงพยาบาล โดยประสานมาที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์และมีการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งทางโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้แจ้งกับญาติผู้ป่วยให้ทราบว่าการรักษาขั้นตอนต่อไปคงไม่มีแล้ว ทำได้เพียงแค่รอให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ โดยค่อยๆให้ยาบรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งจะทำคนไข้หลับเป็นส่วนใหญ่ แต่จะไม่ให้ยาอื่นเพื่อกระตุ้นอะไรอีกแล้ว ลูกๆ ฟังแล้วเข้าใจ หรืออีกเคสหนึ่ง เข้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งรักษาโรคมะเร็งมากว่า 8 ปี หมดเงินไป 20 กว่าล้านบาท ครอบครัวแทบหมดเนื้อหมดตัว แต่สุดท้ายก็ยื้อไม่ได้และมาเข้าโครงการพินัยกรรมชีวิต”

พระเทพประสิทธิมนต์ ระบุและว่า พินัยกรรมชีวิต คือการไม่ยื้อความตาย จึงไม่ผิดหลักพระพุทธศาสนา การไม่ยื้อความตายจะทำให้ผู้ป่วยไม่ทรมาน เปรียบร่างกายเป็นเสมือนเครื่องยนต์ที่หมดสภาพจนซ่อมไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไหล่มาแทน เครื่องยนต์อาจยกเครื่องใหม่ได้ แต่ร่างกายคนเราทำแบบนั้นไม่ได้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องไป บางคนอาจบอกว่า คนยังไม่ตายจะไปฆ่าเขาทำไม แต่นี่ไม่ใช่การฆ่า แต่จะไปยื้อเขาทำไมมากกว่า การยื้อชีวิตคือการฝืนธรรมชาติ

...

“ในทางพระพุทธศาสนาจึงขอให้ดูแลพ่อแม่ในวันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วเราจะไม่มานั่งเสียดายทีหลังเมื่อพ่อแม่ที่เรารักจากไป เคยมี รายหนึ่งหอบกระดูกแม่มาจากอีสาน เพราะตอนยังมีชีวิตอยู่แม่อยากมาเห็นทะเลมาก แต่ตัวเองก็ผัดวันประกันพรุ่ง จนวันที่แม่ตายจึงทำได้ เพียงเอาเถ้ากระดูกของแม่มาดูทะเลแทน โครงการนี้ทำเพื่อให้เห็นสัจธรรมความจริงว่าทุกชีวิตต้องตาย มันยื้อไม่ได้ ยื้อไปก็ทรมาน บางคนอาจบอกว่ายื้อเพราะอยากดูแลพ่อแม่ แต่ในความเป็นจริงควรดูแลพ่อแม่ในวันที่ท่านยังไม่เจ็บป่วยจะดีกว่า แบ่งเวลาให้พ่อแม่บ้าง” เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม กล่าว

สำหรับผู้มีจิตศรัทธาที่ต้องการช่วยโรงพยาบาลและผู้ป่วยติดต่อ พระเทพประสิทธิมนต์ โทร.08-1331-7258 โครงการพินัยกรรมชีวิตเป็นโครงการนำร่องระหว่างโรงพยาบาลราชพิพัฒน์กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ

โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โครงการพินัยกรรมชีวิตของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ควรนำมาต่อยอดในพื้นที่อื่นๆของกรุงเทพมหานคร ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ จะต้องมีการบรรจุเรื่องพินัยกรรมชีวิตในหลักสูตรภาคบังคับของนักศึกษาแพทย์ ให้ได้เรียนรู้และเห็นแนวทางปฏิบัติว่า เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการเพิ่มคุณค่าการดูแล ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นตามสิทธิผู้ป่วย และต้องทำให้สังคมเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นหน้าที่ของทุกคนเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

...

“ทีมข่าวศาสนา” มองว่าโครงการพินัยกรรมชีวิต คือทางเลือกของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมื่ออาการเข้าขั้นวิกฤติแล้วไม่ต้องยื้อ เพื่อขอจากไปอย่างไม่ทุกข์ทรมาน

แต่สิ่งที่เราอยากฝากไว้ให้กับลูกหลานที่ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตคืออยากให้ดูแลพ่อแม่ในวันที่ท่านยังสามารถทำอะไรได้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย

เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องการมากที่สุดคือ “ยาใจ” จากบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะลูกหลาน เพื่อสามารถจากไปสู่ภพภูมิใหม่ได้อย่างไม่ติดยึดกับความห่วงใยใดๆ.

ทีมข่าวศาสนา