วันที่ 9 ธ.ค. 65 เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย และสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดกิจกรรม โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (Ms.Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การตลาด องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร รวม 315 คน เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กทม.

คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัด Workshop ในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ก็มีความเชื่อมั่นว่า แนวคิด Change for Good จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในบริบทที่หลากหลายให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังช่วยสานพลังทางความคิด ปลุกแรงบันดาลใจในการทำงาน ไม่เพียงแต่คนในองค์กร แต่ได้แพร่กระจายไปแล้วทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ในเรื่องการใช้ Solar Rooftop มีครัวเรือนประมาณ 100,000 ครัวเรือน เห็นความสำคัญในการใช้พลังสะอาด จนนำไปสู่การติดตั้งในที่อยู่อาศัย ท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมกิจกรรม Workshop ในวันนี้ ในนามของสหประชาติประจำประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายอย่างเต็มกำลัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Workshop ในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามในพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านความร่วมมือกับทีมงาน สหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nation Country Team : UNCT) และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ในนามของกระทรวงมหาดไทย "77 จังหวัด 77 คำมั่นสัญญา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" และเพื่อเป็นการตอกย้ำเจตจำนงการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมิติต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัด Workshop ในวันนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ และสร้างความตระหนักรู้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ผ่านเครือข่ายการทำงานของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ 878 อำเภอ 76 จังหวัด และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน

“ภายหลังจากการลงนาม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ตามแนวทาง Change for Good ผ่านการสร้างทีมผู้นำนักขับเคลื่อนนำการเปลี่ยนแปลง 878 อำเภอ ในโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่เข้าดำเนินงานสำรวจประเด็นปัญหา เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยใช้กลไกจิตอาสา พร้อมมุ่งสู่ขั้นก้าวหน้า ยกระดับพัฒนาจากชุมชนชนบทสู่ระดับชุมชนเมือง เพื่อทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย และมีภูมิต้านทานต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในบริบทโลกปัจจุบันที่สอดคล้องกับประเด็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้านที่สำคัญได้แก่ 1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2) การอนุรักษ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน 3) การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว การแก้ปัญหาการเผาชีวมวล ด้วยแนวทางที่อิงธรรมชาติและการลดมลพิษทางอากาศและพลาสติก 4) การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียอาหาร การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนการทำฟาร์มอัจฉริยะ และ 5) การเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ชุมชนและระบบนิเวศทางทะเล โดยการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงความท้าทายบนเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (Ms.Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เปิดเผยว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการจัดกิจกรรม ภายใต้หัวข้อ "77 จังหวัด 77 คำมั่นสัญญา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่จัดขึ้นในวันนี้ สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ถือเป็นกระบวนการที่อยู่ในกระแสหลักของโลก ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัย ภาวะผู้นำ และความรู้สึกการเป็นเจ้าของ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงควบคู่กับการหวงแหนรักษาในประเด็นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สามารถส่งต่อสู่รุ่นต่อไปได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทุกด้าน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีความมุ่งหวังจะทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และหลัก "อารยเกษตร" มาเป็นแนวทางในการพึ่งพาตนเองอย่างมีเหตุผล ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน (National Food Waste Management Campaign) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับบริหารจัดการขยะ พร้อมสร้างวัฒนธรรม 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายครัวเรือน และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อีกทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” อีกด้วย และเนื่องในโอกาสวันดินโลก 5 ธันวาคม ของทุกปี กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด Soils, where food begins หรือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ดิน ทำให้เกิดผลดีทั้ง 4 ด้าน คือ ด้าน ผลิตผลที่ดีขึ้น (Better Production) ด้านโภชนาการที่ดีขึ้น (Better Nutrition) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (Better Environment) และด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Better Life) อีกด้วย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การ Workshop ในวันนี้ประกอบด้วยกิจกรรมการเสวนาเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในบริบทของประเทศไทย ความสมดุลระหว่างมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการเร่งด่วนจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน โดยศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างปรเทศ (International Trade Center: ITC) และกิจกรรมกลุ่มย่อย 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1) “ระบบอาหารที่ยั่งยืน” โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และกระทรวงเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร 2) “เศรษฐกิจหมุนเวียนระดับจังหวัด” – กุญแจเพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ซึ่งเป็นการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3) “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามแนวคิดนวัตกรรมทางสังคม และการเป็นหุ้นส่วนทางสังคม (4Ps) ไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 4) “การเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น” โดยสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UN-DRR) ที่เน้นการสร้างเมืองให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) พร้อมรองรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ 5) “ผสมผสานเศรษฐกิจ BCG เข้ากับวิถีชีวิต สายน้ำและเกษตร” โดย องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) และ 6) “ใช้ประโยชน์จากคำติชม และเสียงสะท้อนเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์การพัฒนาระดับจังหวัด” โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะกับสภาพภูมิสังคมตามบริบทพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น อุดช่องว่างในการขับเคลื่อนภารกิจไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการตอกย้ำให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ร่วมกันผนึกกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบบูรณาการประสานความร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และ 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้ความตั้งใจในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ได้ทำสิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อลูกหลาน คนไทย ตลอดจนร่วมสืบสานพระราชปณิธานการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่มั่นคงยกระดับชุมชน นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมการผลิตที่สร้างสรรค์ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกด้าน ทำให้โลกใบเดียวของเราเป็นพื้นที่แห่งความสุข เพื่อลูกหลานของเราทุกคน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย