นับวันในยุคนี้ “วัยรุ่นไทยระดับอุดมศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย” ต่างต้องผจญภัยกับการใช้ชีวิตบนความเสี่ยงต่อ “การเจ็บป่วย และอุบัติเหตุ” โดยเฉพาะความเครียดจนต้องใช้วิธีการฆ่าตัวตายเป็นหนทางออกของการแก้ไขปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลง “ด้านเศรษฐกิจ และสังคม” ที่รวมถึงการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมักต้องมีภาระรับผิดชอบสูงขึ้น ทั้งการเรียน กิจกรรม และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดความเครียดสะสมกระตุ้นให้บางคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหันไปสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

กระทั่งไม่นานมานี้ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ สสส. และ อว.” ได้สำรวจสุขภาวะนิสิตนักศึกษาไทย “หลังพบความเครียดสะสมเพิ่มขึ้น บวกกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้านหลายมิติ” พร้อมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดร่วมกัน 15 มหาวิทยาลัย เพื่อหาทางออกด้านสุขภาวะนิสิตนักศึกษาไทยนี้

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน ที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ และสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับมหภาค-จุลภาค และระดับครอบครัว กลายเป็นปัญหากระทบต่อเยาวชนในมหาวิทยาลัยที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

...

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน
ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน

ตามที่มีการสำรวจข้อมูลนักศึกษาปริญญาตรี 9,050 คนใน 15 แห่ง จาก 5 ภูมิภาค สามารถแยกปัญหาออกเป็นหลายประเด็น คือเรื่องแรก...“สุขภาพจิตและความเครียด” ปัจจุบันนิสิตนักศึกษากำลังเผชิญกับความรู้สึกเศร้าสูงถึงร้อยละ 30 ในจำนวนนี้ 4.3% ได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า โรค Bipolar

หนำซ้ำเคยคิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา 4% เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว 12% ทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้ง 1.3% สาเหตุจากความสัมพันธ์ในครอบครัว และผลการเรียน ที่กลายเป็นความเครียดสะสมหาทางออกไม่ได้จนคิดฆ่าตัวตายนั้น แล้วนักศึกษาเขตเมืองมีอัตราเสี่ยงมากกว่าเขตตามภูมิภาค

ทั้งนี้ แม้ว่า “สถาบันครอบครัว” มีความสัมพันธ์ก่อให้เกิดความเครียดและคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็มักเป็นทางเลือกแรกที่นักศึกษาขอความช่วยเหลือจนลดปัญหาลงได้ ซึ่งมีเพียง 10% เท่านั้นไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร

ด้วยปัจจุบันแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรับ “มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งยังขาดเครื่องมือชี้วัด” เพื่อเป็นสัญญาณไว้ป้องกันดูแล “ด้านสุขภาพจิต” ที่นักศึกษาเข้าถึงส่วนงานให้คำปรึกษาสุขภาพจิตนี้ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

สะท้อนให้เห็นว่า “นักศึกษากำลังเผชิญกับความเครียด” อันเป็นข้อมูลตอบโจทย์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า เพื่อหาแนวทางจัดการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ “มิใช่ว่านักศึกษาเครียดฆ่าตัวตายไปแล้ว” มหาวิทยาลัยค่อยกระตือรือร้นขับเคลื่อนดำเนินการสำรวจเก็บสถิติ และนำนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษาแก้ปัญหาดั่งที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้

เรื่องถัดมา...“พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการบริโภคอาหาร” ที่มีแนวโน้มการรับประทานอาหารเช้าลดลง ทำให้การกินอาหารไม่ตรงเวลา “มุ่งเน้นแต่อาหารรสจัดมีไขมันสูง” ตรงข้ามกันกับการออกกำลังกายน้อยลงมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงโควิด-19 ทำให้นักศึกษา 1 ใน 3 มีการ ใช้สื่อโซเชียลฯ มากกว่า 3 ชม.ต่อวัน

...

ผลคือค่าดัชนีมวลกายไม่เหมาะสม 1 ใน 4 เผชิญกับภาวะผอม และมีภาวะอ้วนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน “อันมีผลต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมเพิ่มมากขึ้น” ทั้งเจ็บป่วยด้วยโรคปวดหลัง ปวดตัวกล้ามเนื้อ 11% ไมเกรน 10.3% สายตาสั้น-ยาว 32.3% และบางคนต้องใช้ยานอนหลับช่วยเกือบ 10%

ถัดมาคือ...“การใช้ยาสูบ ดื่มสุรา และสารเสพติด” ตามข้อมูลนักศึกษามีการใช้ยาสูบถึง 15% ในจำนวนนี้ติดบุหรี่ 5.5% เรื่องที่น่าสนใจคือ “ในรั้วมหาวิทยาลัย” กลับพบเห็นการสูบบุหรี่สูงกว่า 40% ส่วนใหญ่เกิดจากบุคลากร อาจารย์ แม่บ้าน รปภ.อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วยซ้ำ

ต่อมาคือ “การดื่มแอลกอฮอล์” อันมีนักศึกษาดื่มสุราบ่อยครั้งอยู่ 9% แล้วยังพบการดื่มได้บ่อยในมหาวิทยาลัยประมาณ 7% โดยเฉพาะรอบรั้วมหาวิทยาลัยนั้น “มักมีสถานบันเทิงเยอะมากมาย” ทำให้นักศึกษาเข้าไปใช้บริการอยู่ไม่น้อย ในส่วนการใช้สารเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา กระท่อม ค่อนข้างพบน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เท่านั้น

...

ทว่า ประเด็น “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ปรากฏพบ พฤติกรรมนักศึกษาเคยมีการขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมาร้อยละ 15 ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง ดื่มในปริมาณมากกว่า 7 แก้วขึ้นไป ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ทั้งตนเอง รวมถึงผู้ร่วมใช้ทาง แล้วในบางคนประสบอุบัติเหตุรุนแรงก็มี

ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อกขณะใช้รถจักรยานยนต์ เมื่อพิจารณาบริบทสภาพแวดล้อมบางแห่งจะสวมหมวกฯ เฉพาะเวลา “ตำรวจตั้งด่านตรวจ” โดยใช้วิธีสื่อสารกันภายในกลุ่มนิสิตนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยแจ้งเตือนกัน แต่ว่าหากมหาวิทยาลัยใดกวดขันวินัยจราจรนักศึกษาก็มักปฏิบัติตามเสมอ

ประเด็น “เพศสภาพ และพฤติกรรมทางเพศ” ด้วยปัจจุบันการมีเพศสัมพันธ์เปิดกว้างนักศึกษาเคยมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควรสูงขึ้น 30% เพราะด้วยช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่ได้ออกจากบ้านมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมากยิ่งขึ้น ในจำนวนนี้นักศึกษาชายมีสัดส่วนมากที่สุด 33.4% นักศึกษาหญิง 27.9% กลุ่ม LGBTQIA+ 19.9%

...

ส่วนใหญ่คงมีการคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย แต่ก็มีอยู่ราว 5% ไม่ได้ป้องกันเวลามีเพศสัมพันธ์ทำให้จำนวน 1 ใน 5 มีการป้องกันแบบมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หรือเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การนับวัน การหลั่งภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในส่วน “ความรุนแรง และการล่วงละเมิด” เคยมีนักศึกษาโดนกระทำความรุนแรง แยกเป็นถูกทำร้ายจิตใจจากคนใกล้ชิด 32.2% ถูกคุกคามทางวาจา 32% ถูกสัมผัสร่างกาย หรือโดนลวนลาม 8.9% ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์จากคนใกล้ชิด 7.5% ถูกข่มขืน 0.7% และถูกพยายามข่มขืนแต่ไม่สำเร็จ 1.2%

ทำให้ตั้งคำถามว่า “ในรั้วมหาวิทยาลัยเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร...?” ส่วนทิศทางของข้อมูลความรุนแรง และการล่วงละเมิดนี้ยังคงพบได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ

มาต่อกันที่เรื่อง “ภาระทางการเงิน” นักศึกษาไม่มีหนี้สินราว 50% และมีภาระหนี้สินทางการเงิน 50% ส่วนใหญ่เป็นหนี้ค่าเล่าเรียน อย่างหนี้ กยศ.40% รองลงมาเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนี้ค่าที่พักอาศัย

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง “พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล” มีหนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงสุด ตั้งแต่การกู้เงินในระบบและยืมจากญาติพี่น้องคนใกล้ชิด แต่ยังเป็นหนี้น้อยกว่านักศึกษาในเขตพื้นที่ภูมิภาคอย่างเช่น “ภาคอีสาน” ที่มีหนี้พนันสูงที่สุดคือ “หนี้หวย และหนี้พนันบอล” ลักษณะการกู้ยืมนอกระบบ และจากญาติพี่น้องมานั้น

ปัญหามีอยู่ว่า “เรื่องหนี้สินนั้น” มักส่งผลกระทบต่อ “นักศึกษาเกิดความเครียด” สาเหตุหนึ่งนำไปสู่การคิดสั้น หรือพยายามฆ่าตัวตาย ที่เป็นปัจจัยรองจากปัญหาครอบครัว และผลการเรียนนั้น

เช่นนี้ “แนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพนิสิตนักศึกษาของประเทศไทย” มีความจำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนในระดับนโยบายภายใต้ 2 แนวทางคือ 1.พัฒนาฐานข้อมูลให้เกิดการรับรู้สถานการณ์ระดับประเทศ 2.เก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพนักศึกษาต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องกันแบบเชิงรุก

นี่คือข้อมูลทางวิชาการสะท้อนถึง “นิสิตนักศึกษาไทย” กำลังผจญภัยปัญหาหลายมิติรุมเร้า กลายเป็นความท้าทายให้ “รัฐบาล” เร่งขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะในมหาวิทยาลัยให้ปลอดภัยมากกว่านี้.