ประเทศไทย...ผู้นำด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในอาเซียน
เป้าหมายหลักการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 4 (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) และขยายเวลาการใช้ยุทธศาสตร์ฯ ไปสิ้นสุดปี พ.ศ.2565 ของกระทรวงวัฒนธรรม ในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์
พร้อมกับเปิด วิสัยทัศน์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยไปสู่การได้รับการยอมรับในระดับแนวหน้า เป็นหุ้นส่วนธุรกิจระดับโลก และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสาขาอื่นของไทยให้ส่งออกสู่สากลภายในระยะเวลา 5 ปี
นับเป็นบันไดขั้นที่ 4 ของการเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติด้วย การใช้วัฒนธรรม เสริมสร้างภาพลักษณ์พัฒนาความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าการตลาดและการลงทุนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล อีกทั้งใช้พลัง Soft Power เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร เทคโน โลยี ความคิดสร้างสรรค์ การผลิตการถ่ายทํา การตลาด การบริโภค การร่วมลงทุนระหว่างประเทศ การพัฒนากฎหมาย ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
...
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ในฐานะรองประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 4 (พ.ศ.2566-2570) พร้อมแผนปฏิบัติการและงบประมาณ มุ่งเน้นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กลุ่มสมาคมและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเร็วๆนี้
สำหรับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 4 จะมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาค เอกชนในการดูแลและรับผิดชอบตาม 5 ยุทธ ศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาคอนเทนต์เพื่อการแข่งขันในระดับเอเชียและการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจระดับโลก พัฒนาคอนเทนต์ของไทยลดบริโภคคอนเทนต์จากต่างชาติ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้พัฒนาคอนเทนต์ที่มีความสามารถ สนับสนุนให้คนไทยสร้างทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์มากขึ้น ตลอดจนปรับปรุงกฎหมาย ด้านภาพยนตร์ให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรเพื่อการแข่งขันในระดับเอเชียและการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจระดับโลก พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ส่งเสริมให้มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจวิชาชีพ ด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมถึงส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรในวงการภาพยนตร์และวีดิทัศน์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย พัฒนาฐานข้อมูลคอนเทนต์ไทย ส่งเสริมการจัดหาพื้นที่ฉายและเผย แพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์สนับสนุนจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ เทศกาลภาพยนตร์ มหกรรมเกม เวทีเจรจา ตลาดซื้อขายคอนเทนต์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การใช้ภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและสังคมไทย สร้างกลไกการผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ที่แสดงความเป็นไทย สอดแทรกผลิตภัณฑ์ไทยและ Soft Power ของไทยสู่สากลผ่านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ใช้กลไก โรงเรียนส่งเสริมเยาวชน จัดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงผลงาน รวมถึงยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับผลงานที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม
และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานทางภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่กลุ่มผู้ผลิต สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
...
ทั้งนี้ ได้กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ ได้แก่ ขีดความสามารถการผลิตคอนเทนต์ของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย เพื่อการแข่งขันในระดับเอเชียและการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจระดับโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 มูลค่าการตลาดและ การลงทุนของอุตสาหกรรม ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จำนวน ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่สอดแทรก soft power ภาพลักษณ์ความเป็นไทยศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ไทยที่ได้เผยแพร่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จำนวนผลงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยมีเนื้อหาส่งเสริมสังคมไทย สอดแทรกค่านิยมอันดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 คนไทยบริโภคสื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ถูกลิขสิทธิ์และผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30
นอกจากการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 4 แล้ว อีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็คือ เดินหน้าขับเคลื่อนเมืองพัทยา จ.ชลบุรี สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก ในการถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์ของไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และศักยภาพเป็นเมืองท่องเที่ยวให้สูงยิ่งขึ้น
...
ซึ่งมีการพิจารณาถึงจุดเด่นของเมืองพัทยา คือ อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของกองถ่ายทำภาพยนตร์ได้ และมีสถานที่หลากหลาย เช่น ภูเขา เกาะ ชายหาด หรือพื้นที่ป่าติดทะเล และความเป็นเมือง สามารถได้รับประโยชน์จากการมีกองถ่ายเข้ามาในพื้นที่ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจ ให้เช่าพาหนะ
ขณะเดียวกัน ยังพิจารณาถึงการสร้างแรงจูงใจให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ มีการสนับสนุนจากภาคเอกชน การให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงินเพิ่มเติม ตลอดจนสร้างศูนย์ one stop service อำนวยความสะดวกในการประสานงานสำหรับการขออนุญาตถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ และจัดทำข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกองถ่ายรูปแบบคู่มือแนะนำระบบขนส่งในพื้นที่ ที่พัก ขั้นตอนการขออนุญาตถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า การที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในอาเซียน ถือเป็นความท้าทาย แต่การกำหนดยุทธศาสตร์มาถึงระยะที่ 4 เท่ากับเป็นการสร้างโอกาสที่จะก้าวสู่ เป้าหมายที่วางไว้ สิ่งสำคัญที่เราอยากจะฝากคือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างบรรยากาศในการลงทุนในประเทศไทยให้คุ้มค่า จริงจังและจริงใจ
...
เพราะต่อให้ยุทธศาสตร์ดีเลิศเลอเพียงใด หากไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่น่าสนใจ และไม่ตรงใจ ก็คงไม่สามารถตอบโจทย์ และกลายเป็นความสูญเปล่าในที่สุด.
ทีมข่าววัฒนธรรม