ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงปัญหาการแจ้งเตือนตรวจพบศัตรูพืชในผลไม้ส่งออกไปจีนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลการตรวจประเมินการจัดการศัตรูพืชและมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกไปจีน เมื่อปี 2564 พบว่า ลำไยเป็นพืชหนึ่งที่จีนมีการแจ้งเตือนตรวจสอบศัตรูพืชมากที่สุด กรมวิชาการเกษตรจึงมีคำแนะนำในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งสำหรับเกษตรกร
“เนื่องจากมดเป็นพาหะในการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ดังนั้นเกษตรกรควรป้องกันกำจัดมดไม่ให้ขึ้นต้น เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วหรือผ้าชุบสารฆ่าแมลง มาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ที่โคนต้นและวัสดุค้ำยันต่างๆ พร้อมกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกให้สะอาด โดยเฉพาะแห้วหมูและหญ้าคา โดยถอนต้นและขุดเหง้าที่อยู่ในดินออก หรือใช้สาร ฮาโลซัลฟูรอน–เมทิล 75% WG หรือ ไกลโฟเซต-ไอโซโพพิล แอมโมเนียม 48% พ่นระหว่างแถวไม้ผล พร้อมกับหมั่นสำรวจแปลงทุก 7 วัน”
สำหรับวิธีการปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวก่อนส่งลำไยผลสดเข้าโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะนำแปลงปลูกลำไยต้องมีมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีการตรวจคัดกรองคนงานที่จะเข้ามาในแปลงทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน เมื่อสำรวจแล้วไม่พบเพลี้ยแป้ง ให้ทำการหักช่อผลออกจากต้นแล้วใส่ในภาชนะ เพื่อป้องกันไม่ให้ช่อผลลำไยสัมผัสพื้นดินโดยตรง
...
“การคัดแยกต้องดำเนินการบนผ้าพลาสติกหรือผ้ายาง ถ้าพบเพลี้ยแป้ง หรือเพลี้ยหอย หรือราดำ หรือมด ที่ช่อผล ต้องแยกช่อผลนั้นออกทั้งช่อ ไม่นำมาคัดหรือตัดแต่ง ส่วนช่อผลที่พบอาการผลเน่าหรือผลแตกเกิน 30% ควรคัดทิ้งทั้งช่อและควรมีตะกร้าใส่ช่อผลที่คัดทิ้งแยกต่างหากเพื่อไม่ให้ปะปนกับผลที่ยังไม่คัด ความยาวก้านของช่อผลลำไยต้องทำการตัดแต่งความยาวก้านของช่อผลลำไยไม่เกิน 15 ซม. ตามข้อกำหนดของจีน และในการขนส่งลำไยควรขนส่งด้วยพาหนะที่มีการปิดมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงที่อาจมาทำลายซ้ำ และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค” ดร.ภัสชญภณ ให้คำแนะนำ.