ป่านันทนาการ...แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “ทางเลือก” การท่องเที่ยวใหม่ทางธรรมชาติ!
ป่านันทนาการ คือป่าที่ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจและเอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมๆกับได้สนุกผจญภัย ซึ่งป่านันทนาการที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 30 ป่า มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ป่าที่มีทัศนียภาพสวยงาม มีทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ป่าทั่วประเทศไปจนถึงท้องทะเล
“กรมป่าไม้มีแนวความคิดจัดตั้งป่านันทนาการในรูปแบบสวนป่าเพื่อการท่องเที่ยว โดยมีการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและความโดดเด่นในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในเบื้องต้นมีพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประมาณ 109 พื้นที่ โดยมุ่งเน้นใช้กิจกรรมนันทนาการเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้ประโยชน์ และรูปแบบการท่องเที่ยวของป่านันทนาการแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรและระบบนิเวศของพื้นที่ป่า ขณะเดียวกันสิ่งที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กับการจัดตั้งป่านันทนาการคือการสร้างพลเมืองสร้างป่าให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนการทำงาน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่อยู่รอบๆเขตป่านันทนาการ เพื่อเป็นรากฐานสู่การร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพและยั่งยืน ต่อมามีการคัดเลือกจาก 109 แห่ง ให้เหลือ 10 แห่งก่อนเพื่อนำร่อง โดยพิจารณาจากความพร้อม ทั้งสถานที่ บุคลากร ส่วนความสวยงาม แต่ละแห่งสวยงามแตกต่างกันไปอยู่แล้ว” นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของป่านันทนาการ
...
โดยตั้งแต่ปี 2564 กรมป่าไม้ได้พัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในรูปแบบ “ป่านันทนาการ” โดยนำร่องก่อน 10 แห่ง ได้แก่ 1.ป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จ.ยะลา 2.ป่านันทนาการหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ 3.ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี 4.ป่านันทนาการบ่อสิบสอง จ.พะเยา 5.ป่านันทนาการน้ำพุร้อนโป่งปูเฟือง จ.เชียงราย 6.ป่านันทนาการดงรอยเท้าอาร์โคซอร์ จ.เพชรบูรณ์ 7.ป่านันทนาการภูผาหินบ้างมุง จ.พิษณุโลก 8.ป่านันทนาการถ้ำสิงห์ จ.อุดรธานี 9.ป่านันทนาการโบกลึก จ.อุบลราชธานี และ 10.ป่านันทนาการเกาะมุก จ.ตรัง โดยได้พัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งเรียนรู้เรื่องราวธรรมชาติรวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศใน 10 จังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
จากนั้น กรมป่าไม้พยายามยกระดับแนวทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อรักษาผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ สร้างโอกาสและรายได้จากการท่องเที่ยว พร้อมได้ดำเนินการประกาศ “ป่านันทนาการ” เพิ่มอีก 20 แห่ง ประกอบด้วย 1.ป่านันทนาการสวนป่ากิ่วทัพยั้ง จ.เชียงราย 2.ป่านันทนาการเขาส่องกระจกดอยแก้ว จ.ลำปาง 3.ป่านันทนาการม่อนคลุย จ.ตาก 4.ป่านันทนาการน้ำตกหินตั้ง จ.อุดรธานี 5.ป่านันทนาการเขาเสียดอ้า จ.นครราชสีมา 6.ป่านันทนาการภูผาสูง จ.นครราชสีมา 7.ป่านันทนาการน้ำตกวะภูแก้ว จ.นครราชสีมา 8.ป่านันทนา การภูแลนคาด้านทิศใต้ จ.ชัยภูมิ 9. ป่านันทนาการเนินช้างศึก จ.กาญจนบุรี 10.ป่านันทนาการเขาศูนย์ จ.นครศรีธรรมราช
11.ป่านันทนาการน้ำตกตาดม่าน จ.น่าน 12.ป่านันทนา การน้ำตกตาดหมอก น้ำตกวังเขียว และน้ำตกนางกวัก จ.น่าน 13.ป่านันทนาการน้ำตกผาร่มเย็น จ.อุทัยธานี 14.ป่านันทนาการห้วยทับเสลา จ.อุทัยธานี 15.ป่านันทนาการน้ำตกถ้ำพวง จ.อุบลราชธานี 16.ป่านันทนาการเขาแด่น จ.เพชรบุรี 17.ป่านันทนาการสวนป่าบางขนุน จ.ภูเก็ต 18.ป่านันทนาการเขาโต๊ะแซะ จ.ภูเก็ต 19.ป่านันทนาการเขาหว่าง–แหลมจมูกควาย จ.กระบี่ และ 20.ป่านันทนาการน้ำตกเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 จ.ยะลา
...
“ทั้ง 30 ป่านันทนาการ คาดว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว สร้างโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อต่อยอดการดำเนินงานและพัฒนาพื้นที่ป่านันทนาการให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย อีกทั้ง ดูแลพื้นที่ให้มีความสะอาดและสามารถยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในพื้นที่ กรมป่าไม้ ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บค่าบริการสำหรับการเข้าใช้บริการป่านันทนาการที่มีความพร้อมให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.ป่านันทนาการหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ 2.ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี 3.ป่านันทนา การทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จ.ยะลา และ 4.ป่านันทนาการบ่อสิบสอง จ.พะเยา โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าบริการในวันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะใช้ในการพัฒนาพื้นที่ป่านันทนาการต่อไป
นายวีระวัฒน์ แสงกระจ่าง ผอ.สำนักจัดการป่านันทนาการ กรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่านันทนาการมีกฎหมายรองรับ เพื่อทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกต้อง ส่วนการจัดเก็บเงินรายได้ เพื่อนำไปบำรุงและพัฒนาพื้นที่ ไปดูแลรักษาป่า ที่จัดเก็บ 4 แห่งก่อนเพราะมีความพร้อม สำหรับป่านันทนาการที่ยังไม่พร้อม จะยังไม่จัดเก็บ
...
“ป่านันทนาการ คือการรักษาป่าเดิมและเพิ่มพื้นที่ป่าใหม่ การตั้งป่านันทนาการ เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนรอบป่ารู้สึกเป็นเจ้าของและจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว มีรายได้จากการท่องเที่ยว ชาวบ้านจะทำหน้าที่เป็นรั้วของป่าที่จะช่วยกันดูป่านันทนาการไม่ให้มีการบุกรุก” ผอ.สำนักจัดการป่านันทนาการ กล่าว
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ป่านันทนาการ จะเป็นทางเลือกใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะป่านันทนาการที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ มีความสวยงามไม่แพ้อุทยานแห่งชาติ แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือการที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและชุมชนต้องทำให้ป่านันทนาการทั้ง 30 แห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจครบทุกมิติอย่างแท้จริง
เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ป่า โดยเฉพาะป่าสงวนแห่งชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน.
...
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม