นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 สิ้นสุดลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้พูดถึง โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อลดโลกร้อนอีกเลย เห็นหมกมุ่นหาเสียงหวังกลับมาเป็น “นายกฯสมัย 2” อีก 2 ปี ใช้เงินภาษีคนไทยทั้งประเทศหลายแสนล้านบาท เอาใจเกษตรกรยากจน และ คนจนฐานราก เช่น บัตรคนจน มีคนจนขึ้นทะเบียนกว่า 22 ล้านคน อนุมัติโครงการประกันราคาข้าวงวดใหม่กว่า 81,000 ล้านบาท ล่าสุดประกาศ ตรึงค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วยไปอีก 4 เดือน ตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2566 จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จได้นายกฯคนใหม่

จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกหรือไม่ โอกาสคงค่อนข้างริบหรี่เต็มที

ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อคนไทยอย่างไร ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ รู้แต่ว่าฝนแล้งผิดปกติ ฝนมากผิดปกติ น้ำท่วมมากผิดปกติ เช่นปี 2565 ไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ทุกภาค เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ใต้ เป็นต้น ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank ได้เขียนบทความเรื่อง “Do or Die...กู้วิกฤติโลกร้อน พลิกเกมธุรกิจอย่างยั่งยืน” ลงใน วารสาร การเงินธนาคาร เดือนพฤศจิกายน ระบุว่าความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เช่น น้ำท่วม Heatwave (คลื่นความร้อน) ภัยแล้ง ส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ องค์กร Germanwatch รายงานว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเสียหายเฉลี่ย 0.82% ของจีดีพี ราว 98,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2543–2562 ปี 2565 หลายพื้นที่ของไทยเผชิญภาวะน้ำท่วมบ่อยครั้งจากปริมาณน้ำที่มากกว่าทุกปี

Swiss Re Institute กลุ่มธุรกิจประกันภัยชั้นนำของโลกประเมินว่า ภายในปี 2593 (อีก 28 ปี) ภัยธรรมชาติอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกราว 11-13% ของจีดีพีโลก ปี 2564 ที่ผ่านมา 10 ประเทศที่ได้รับความเสียหายจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด จาก 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลก อันดับ 1 เปอร์โตริโก รองมา เมียนมา เฮติ ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก บาฮามาส บังกลาเทศ ปากีสถาน แล้วก็ ประเทศไทย แสดงว่าคนไทยเจอภัยวิกฤติโลกร้อนอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว

...

(การประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ ไปประกาศบนเวทีว่า ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 40% ในปี 2030 ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 เพื่อร่วมลดอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 องศา แต่จนถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการซื้อขายคาร์บอน มีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกันเองเพื่อเอาตัวรอด เพื่อให้ค้าขายกับประเทศตะวันตกได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พูดแต่ไม่ทำ หรือทำไม่เป็นก็ไม่รู้ ไทยจึงติดอันดับ 9 ของโลกที่ได้รับความเสียหายจากโลกร้อนมากที่สุดจาก 180 ประเทศทั่วโลก)

ดร.รักษ์ ระบุว่าปัจจุบันธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากแรงกดดันของกระแสคุมคาร์บอนในทุกมิติ โดยเฉพาะ มาตรการทางการรูปแบบใหม่ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของ สหภาพยุโรป ขณะที่ สหรัฐฯ ก็กำลังเร่งผลักดัน กฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อเตรียม จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญของไทย เช่น ยานยนต์ยังใช้เครื่องยนต์สันดาป กำลังถูกท้าทายจากยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้แนวทางดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็น “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

ดูข่าวทีวีวันนี้ ชาวนาไทยยังตากข้าวเปลือกริมถนนและลานวัดเหมือน 4-50 ปีก่อน เจอฝนเก็บไม่ทันข้าวเปียกต้องตากใหม่ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินไม่รู้ว่า “คาร์บอนต่ำ” คืออะไร.

“ลม เปลี่ยนทิศ”