การประกวด “ข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2565” The World’s Best Rise 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ผลปรากฏว่า “ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน” ของกัมพูชาคว้าแชมป์ ข้าวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2565 ไปครอง เฉือน “ข้าวหอมมะลิ 105” ของไทยแชมป์เก่าปีที่แล้วไปเพียง 1 คะแนน ข้าวหอมมะลิ 105 ไทยได้อันดับ 2 และ อันดับ 3 ข้าวหอมมะลิเวียดนาม อันดับ 4 ข้าวหอมมะลิลาว ข้าวหอมมะลิไทยที่แพ้ข้าวหอมมะลิกัมพูชา เพราะ มีกลิ่นหอมน้อยกว่า โดยเฉพาะตอนที่กำลังหุง ข้าวหอมมะลิกัมพูชามีกลิ่นหอมออกมามากกว่าข้าวหอมมะลิไทย
ข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน เป็นข้าวหอมมะลิที่พัฒนาพันธุ์โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรกัมพูชา ชาวนากัมพูชาปลูกมาตั้งแต่ปี 2542 เคยได้รับรางวัล “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก” มาแล้วถึง 4 ครั้ง ในปี 2555-2557 และ 2561 ปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่ ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2565
ข้าวหอมมะลิพันธุ์ไทย เคยครองแชมป์โลกมาถึง 7 สมัย จากการประกวดทั้งหมด 13 ครั้ง ปีที่แล้ว 2564 ข้าวหอมมะลิไทยก็ยังครองแชมป์อันดับ 1 ข้าวที่ดีที่สุดในโลก แต่ปีนี้กลับเสียแชมป์ให้กับข้าวหอมมะลิกัมพูชา โดยมี ข้าวหอมมะลิเวียดนาม ข้าวหอมมะลิลาว คะแนนตามมาติดๆ ถ้ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรฯ ยังคิดแต่ “ประกันราคาข้าว” อย่างเดียวโดย ไม่สนใจพัฒนาพันธุ์ข้าว ไม่สนใจพัฒนาผลผลิตข้าวของชาวนาไทย อีกหน่อย ข้าวหอมมะลิไทย อาจจะแพ้ข้าวหอมมะลิเวียดนาม ข้าวหอมมะลิลาว ที่กำลังพัฒนาสายพันธุ์ดีวันดีคืนขึ้นมาอย่างแน่นอน
คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่า ปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ค่อยหอมจริง จากการไปสำรวจข้าวที่จังหวัดอุบลราชธานี ทดลองเอาข้าวหอมมะลิใหม่มาลองหุง ก็ไม่มีกลิ่นหอมเท่าไหร่ ยิ่งตอนหุงไม่มีกลิ่นเลย หลายคนก็พูดว่า ปีนี้ข้าวไม่ค่อยหอม อาจจะน้ำเยอะไป แต่ปีหน้าสมาคมจะส่งเข้าประกวดเพื่อทวงแชมป์คืน
...
การพ่ายแพ้ของ ข้าวหอมมะลิไทย ครั้งนี้ คุณชูเกียรติ บอกว่า เป็นสัญญาณเตือนว่า ไทยต้องกลับมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง เพื่อให้มีกลิ่นหอมและรสชาติดีกว่าเดิม ข้าวกัมพูชาเขาเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า แต่ข้าวไทยเน้นใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่ (พ่อค้าปุ๋ยรายใหญ่หน้าเดิมรวยเงียบกันเช่นเดิม) ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดจะเน้นดูแลเรื่องราคา เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการจำนำข้าว ใช้เงินไปนับแสนล้านบาท แต่ไม่ส่งผลดีต่อสายพันธุ์ข้าวไทย ตอนนี้ข้าวหอมมะลิกัมพูชาขายถูกกว่าไทยมาก ไทยอาจต้องลดราคาลงแข่ง ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน 720 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ ข้าวหอมมะลิไทย 750 ดอลลาร์ต่อตัน
ไม่ว่าข้าวไทยจะขายได้ตันละกี่บาท ก็มีแต่พ่อค้าข้าวที่ร่ำรวย ชาวนาไทยยังยากจนข้นแค้นเหมือนเดิม เหมือนกับที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ให้ความเห็นว่า นโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาล เป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเป็นหลัก เป็นการ “แช่แข็งเกษตรกรให้ติดกับดักมีรายได้ต่ำ” ไม่ได้มองในแง่การแข่งขัน หรือทำให้เกษตรกรยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ ถ้านโยบายประกันราคาข้าวดีจริง เมื่อทำปีแรก ปีที่ 2 ต้องมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม รายได้ชาวนาต้องดีขึ้นกว่าเดิม แต่ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินภาษีไปหาเสียงจำนำข้าวและประกันรายได้มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท แต่ชาวนาไทยก็ยังยากจนเหมือนเดิม ปลูกข้าวได้ไร่ละ 4-500 กิโลเหมือนเดิม
เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งจ่ายเงินก้อนแรกให้ชาวนาในโครงการ “ประกันรายได้ข้าวปี 2565/2566” วงเงิน 81,000 ล้านบาท ทุกอย่างเหมือนเดิม มีคนรวยเพิ่มขึ้น มีแต่ชาวนาไทยที่ยากจนเหมือนเดิม เศร้าใจไหม ประเทศไทยที่รักของเรา.
“ลม เปลี่ยนทิศ”