บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติฯ ชูธงย้ำนโยบายสิ่งแวดล้อม หนุนไทยบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนสู่สากล เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

เกี่ยวกับกระแส "สิ่งแวดล้อม" ที่หลายองค์กรหันมาให้ความใส่ใจ เช่นเดียวกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งได้นำหลักการและแนวคิดในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ BCG (Bio-Circulation-Green Economy) รูปแบบการพัฒนาที่เชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม

โดยนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และให้บริการด้านธุรกิจ อีกทั้งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย Reuse, Recycle, Reduce มาบูรณาการเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ NT ยังตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมดำเนินงานและบริหารจัดการผลกระทบด้านต่างๆ ที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อย่างมีความรับผิดชอบ ครอบคลุมทุกมิติ จึงได้กำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green IT Management) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน ลดปริมาณการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะ และนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลใหม่ 

ทั้งนี้ NT ได้ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาบูรณาการ และดำเนินโครงการที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ดังนี้

...

โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Data) ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 8,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000 ตำบล ใน 900 อำเภอทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) รวมถึงส่งข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนแบบเรียลไทม์ผ่านทางแอปพลิเคชัน RGuard ที่ใช้ได้ฟรี ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

สำหรับสถานีทั้งหมดจะสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ค่าฝุ่น PM 1, PM 2.5, PM 10 อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ รวมทั้งทิศทางและความเร็วลม ซึ่งข้อมูลคุณภาพอากาศและภูมิอากาศ จะมีการจัดเก็บทุกๆ 5 นาที แล้วส่งผ่านเครือข่าย LoRaWan ของ NT และนำเข้าสู่คลังข้อมูล (Big Data) เพื่อนำไปวิเคราะห์และพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดปัญหาฝุ่น PM ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังเป็นโครงการต้นแบบของกระทรวงดีอีเอส ในการสร้างทรัพยากรกลางด้านข้อมูล (Big Data) และจัดทำเป็นข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ผ่านทางแอปพลิเคชัน RGuard เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นำไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดจากการดำเนินการซึ่งจะปูทางไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

โครงการ Green IT เกิดขึ้นจากความพยายามของ NT ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำแนวทางการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Waste ขึ้นมา โดยตั้งตู้รับบริจาคขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกตามจุดต่างๆ ของอาคารสำนักงาน ก่อนจะนำขยะเหล่านี้ไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรือกำจัดตามวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

ในการบริหารงานด้านเอกสาร NT นำระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) มาบริหารอย่างเต็มรูปแบบ ลดการใช้กระดาษ ตั้งแต่กระบวนการจัดสร้าง จัดทำเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับ ส่ง ติดตามสถานะ สืบค้นข้อมูลด้วยความสะดวก รวดเร็ว สามารถลดเวลา ลดขั้นตอน ทำให้การสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

พร้อมทั้ง ดำเนินการจัดหาพัสดุตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีการกำหนดคุณลักษณะสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใน TOR ที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่กำลังเป็นวาระเร่งด่วนในระดับโลก

อย่างไรก็ตาม NT พร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยทุกวิถีทาง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ประกาศในการประชุม COP26 ครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้เกิดขึ้นภายในปี 2593 และเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon) ภายในปี 2603 เพื่อร่วมเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน.