เผยมุมมองของธุรกิจในยุคปัจจุบัน การใส่ใจ "สิ่งแวดล้อม" คือเป้าหมายและปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนา "อุตสาหกรรมไทย" ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน พร้อมแข่งขันกับต่างประเทศ

วันที่ 23 พ.ย. 2565 ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ได้จัดกิจกรรม Open House เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ ให้เข้าเยี่ยมชมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) โรงงานจำลองเพื่อการเรียนรู้ และเครื่องมือทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Industry 4.0 รวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ภายในเขตนวัตกรรมระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ซึ่งภายในงาน มีการบรรยายพิเศษจากสภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชน ถึงทางเลือก ทางรอด ประสบการณ์การปรับตัวสู่ Industry 4.0

...

นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และทิศทางการพัฒนาในอีก 2-3 ว่า นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้น และขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้ก้าวทันโลกแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่อาจมองข้าม คือ เป้าหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโลก ได้แก่ carbon neutrality และ net zero emissions

สำหรับ carbon neutrality หมายถึง การที่โรงงานใช้พลังงาน และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา สิ่งที่เราต้องทำคือ การลดและชดเชย (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนผ่านกิจกรรมอื่น เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งภายในปี 2050 เป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ คือลดความสูญเสียในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

และในปี 2065 จะต้องเป็น net zero emissions คือ ทั้งเครื่องจักรและกระบวนการทำงาน จะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เพื่อสอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะกำหนดเครดิตในปริมาณเท่าไร และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วราคาคาร์บอนเครดิตของโรงงานในประเทศไทย ราคาประมาณ 107 บาท ซึ่งถูกกว่าต่างประเทศมาก นับเป็นข้อดีที่อุตสาหกรรมไทย ไม่เสียเปรียบโรงงานในต่างประเทศ

และนอกจาก การนำเรื่องเทคโนโลยี ความทันสมัยต่างๆ มาประยุกต์กับอุตสาหกรรมแล้ว โจทย์ต่อมาที่ต้องทำให้ได้คือ ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขของ Hybrid change โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการส่งออก ที่ควรทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงเป็น 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนพลังงาน ให้ตอบโจทย์กับ carbon neutrality ในอนาคต เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสีย และสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้

ด้าน นายอดุลย์ เปรมประเสริฐ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ได้แชร์ประสบการณ์การปรับตัวสู่ Industry 4.0 เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันว่า เราต้องพัฒนาไปพร้อมกับโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต คำนวณคาร์บอนฟรุ้ตปริ้น และเปลี่ยนวิธีการจัดการของเสีย

ในยุคปัจจุบันสิ่งที่ต้องทำให้สอดคล้องกันคือ ดิจิทัล กรีน และสุขภาพ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ และมีผลกระทบโดยตรงต่อคนที่ทำงานในองค์กร ชุมชม และประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับ Green business roadmap

ยกตัวอย่างโรงงานของตนเอง หากต้องการให้เป็นโรงงานที่ไม่มีฝุ่น ก็ต้องเปลี่ยนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอซซิล น้ำมันเตา มาเป็นไบโอแมส ถือว่าเป็นการช่วยชุมชน เพราะไม่ทำให้มีการเผาไหม้ที่ก่อเกิดฝุ่นควัน จากนั้นติดตั้งระบบออนไลน์ แชร์ข้อมูลปริมาณการปล่อยแก๊สออกมาสู่บรรยากาศ เพื่อแจ้งที่กรมโรงงานทราบแบบเรียลไทม์

...

พร้อมฝากถึงผู้ประกอบการปัจจุบันในปัจจุบัน ดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เป็นเทรนด์ที่เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เพราะกระทบกับตัวเราตลอดเวลา นอกจากธรรมชาติจะได้ประโยชน์แล้ว เราก็ได้ประโยชน์ อย่างในกรณีฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ หากมองในมุมนักธุรกิจ กากฝุ่นถั่วเหลืองที่ปลิวอยู่ คือต้นทุนที่สูญเสีย หรือหม้อน้ำที่ปล่อยออกไปทำให้เกิด PM 2.5 ก๊าซเรือนกระจกต่างๆ นั่นหมายความว่าเราใช้ปริมาณเชื้อเพลิงไม่เหมาะสม ใช้เงินมากเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงต้องใช้ดิจิทัลมาช่วยปรับเพื่อลดการสูญเสียของวัตถุดิบที่ไปส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ อยากให้มองว่าเราทำเพื่อลดต้นทุนการผลิต แล้วส่งผลดีต่อโลก สิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ เป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกันได้ การทำเรื่องสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่าคิดว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เราต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับชาวบ้าน มองในแง่บวก เป็นสิ่งดีกับตัวองค์กร เพื่อไม่ให้มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน เพราะหากถูกร้องเรียนก็จะอยู่ไม่ได้

"ซึ่งขณะนี้ ทาง บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กำลังทำโครงการ "น้ำเสียให้เป็นศูนย์" ภายในปี 67 ตั้งเป้าหมายเป็นโรงงานผลิตน้ำมันพืชแห่งแรกของโลกที่จะไม่มีน้ำเสีย แต่ทุกอย่างก็ไม่ใช้เรื่องง่าย จะต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เปลี่ยนความคิดคนทำงานว่า หากปล่อยให้พลังงานเสียไป สิ่งแวดล้อมเสียไป เป็นเงินทั้งนั้นที่ปล่อยออกไป และส่งผลกระทบออกมาในท้ายที่สุด" นายอดุลย์ กล่าว.

...