ควันหลงจากการประชุมเอเปกที่ผ่านมา หนึ่งในความร่วมมือในการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร แห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย หลังมีความขัดแย้งความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศนานถึง 3 ทศวรรษ จากการลงนามบันทึกความตกลงด้านการท่องเที่ยว พลังงาน และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่ง รมว.ต่างประเทศซาอุดีฯ คาลิด อัลฟาลีห์ ยอมรับว่า เป็นปีที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อย่างยิ่ง
ซึ่งในส่วนของ ความร่วมมือทางด้านพลังงาน ฐานะที่ ซาอุดีฯ อยู่ในประเทศกลุ่มโอเปก และมีบทบาททางด้านพลังงานในปัจจุบันอย่างมากจึงได้รับการจับตาเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่ อุตสาหกรรมพลังงาน ในปัจจุบันเท่านั้น แต่มองไปถึง อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่มีเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ ในอนาคตอันใกล้นี้
โดยเน้นถึง พลังงานสะอาด เป็นหลัก ปัจจุบัน ซาอุดีฯ มีการลงทุน โครงการไฮโดรเจน และ แอมโมเนีย เพื่อส่งออกมายังเอเชียเป็นตลาดใหญ่ ดังนั้น ซาอุดีฯ จึงมี โครงการลงทุนร่วมกับไทยในอุตสาหกรรมไฮโดรเจน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ก็ต้องย้อนมาที่ความพร้อมของประเทศไทย โดย ปตท. ที่มี โครงการใช้พลังงานไฮโดรเจน อยู่แล้ว เมื่อเร็วๆนี้ นำร่องความร่วมมือระหว่าง ปตท. โออาร์ โตโยต้า และ บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส นำโดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. วิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บางกอกแก๊ส ปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่โตโยต้า ไดฮัทสุ และ โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย เดินหน้าสู่ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมรองรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV ที่เป็นพลังงานใหม่ในอนาคต สร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศยานยนต์แห่ง อนาคต และสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ที่ทดลองใช้ในรถ โตโยต้า มิไร รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งทดลองใช้ในการให้บริการนักท่องเที่ยวระหว่างสนามบินอู่ตะเภา ในพื้นที่ พัทยา-ชลบุรี และเตรียมขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
...
การลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเป้าหมายสำคัญของเศรษฐกิจโลก ที่เน้นเศรษฐกิจสีเขียว ลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และการใช้รถยนต์ยวดยานพาหนะต่างๆ การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของมลพิษที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ดังนั้น โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว ที่เห็นตรงกันในบรรดาประเทศสมาชิก เอเชีย-แปซิฟิก ล้วนแต่เป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับโลกในอนาคตที่ไร้พลังงานฟอสซิล การผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจนที่จะนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งทุกชนิด รวมทั้งรถไฟและเครื่องบินด้วย การร่วมมือระหว่างกลุ่ม ปตท.กับซาอุดีฯ ในโครงการไฮโดรเจนที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในย่านนี้ จึงเป็นบทบาทที่สำคัญอีกก้าวของพลังงานไทย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th