ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกรมควบคุมมลพิษ กำหนดลักษณะพลาสติกที่เหมาะสม พร้อมวิธีการคัดแยกให้ได้เศษพลาสติก ในการนำไปรีไซเคิล
วันที่ 22 พ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง คุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล พ.ศ. 2565 ระบุว่า โดยที่เป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และให้มีการนำเศษพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพเศษพลาสติกในประเทศให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการนำไปเป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจรีไซเคิล จึงสมควรให้มีการประกาศเผยแพร่คุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เพื่อให้ประชาชน ครัวเรือน ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติกที่มีคุณภาพและมีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิลต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ 2565 ซึ่งกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจและหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี กฎหมาย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกากของเสีย และให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการจัดการมลพิษ รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการมลพิษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกำหนดคุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล
...
โดยชนิดของพลาสติก แบ่งออกเป็น 7 ชนิด โดยมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมาย ที่ระบุชนิด/ประเภทของพลาสติก เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการคัดแยก รวบรวม และนำไปรีไซเคิลดังนี้
1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ประเภทขวดน้ําดื่ม ขวดน้ําอัดลม ขวดน้ํามันพืช ขวดน้ําปลา เป็นพลาสติกใสแข็ง ทนแรงกระแทกดี ไม่เปราะแตกง่าย และกันแก๊สซึมผ่านดี สามารถนํามารีไซเคิลเป็นเส้นใย สําหรับทําเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์สําหรับหมอน
2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ํายาล้างจาน ขวดน้ํายาซักผ้า เป็นพลาสติกที่เหนียวและแตกยาก ค่อนข้างแข็งแต่ยืดได้มาก ทนทานต่อสารเคมีและสามารถขึ้นรูปทรงต่างๆ ได้ง่าย สามารถนํามารีไซเคิลเป็นขวดน้ํามันเครื่อง ท่อ ลังพลาสติก ไม้เทียม
3. พอลิไวนิลคลอไรด์ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ท่อน้ํา สายยาง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก สามารถนํามารีไซเคิลเป็นท่อน้ําประปาหรือรางน้ํา สําหรับการเกษตร กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ม้านั่งพลาสติก ตลับเทป เคเบิล หรือแผ่นไม้เทียม
4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ฟิล์มยืดหุ้มสินค้า ถุงขนมปัง ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ เป็นพลาสติกที่มีความนิ่ม เหนียว ยืดตัวได้มาก ใส ทนทาน แต่ไม่ค่อยทนต่อความร้อน สามารถนํามารีไซเคิลเป็นถุงดําสําหรับใส่ขยะ ถุงหูหิ้วถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์แท่งไม้เทียม
5. พอลิพรอพิลีน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน หลอดดูด เป็นพลาสติกที่มีความใส ทนทานต่อความร้อน คงรูป เหนียว และทนแรงกระแทกได้ดี สามารถนํามารีไซเคิลเป็นไม้กวาด พลาสติก แปรง กล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน กรวยสําหรับน้ํามันไฟท้าย เป็นต้น
6. พอลิสไตรีน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ภาชนะโฟม กล่องใส ช้อน ส้อมพลาสติก เป็นพลาสติกที่มีความใส แต่เปราะและแตกง่าย สามารถนํามารีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ กล่องวิดีโอ ไม้บรรทัด กระเปาะ เทอร์โมมิเตอร์ แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนความร้อน ถาดใส่ไข่ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้
7. พลาสติกอื่นที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (โดยจะมีชื่อของพลาสติกนั้น ไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) เป็นพลาสติกแข็งใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์ เป็นพลาสติกที่นํามาหลอมใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังกำหนดลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนําไปรีไซเคิลว่า ต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร สารเคมีหรือวัตถุอันตราย ต้องไม่ตากแดดเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ทิ้งไว้ในสภาวะอากาศทั่วไป เพราะจะทําให้คุณสมบัติของเศษพลาสติกในการยืด รีด ดึง ลดลง และต้องไม่เป็นเศษพลาสติกที่มาจากสถานที่ฝังกลบขยะ
ขณะที่กำหนดวิธีการคัดแยกให้ได้เศษพลาสติกที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการรีไซเคิล ดังนี้
สำหรับประชาชน ครัวเรือน
1. คัดแยกเศษพลาสติก ไม่ทิ้งรวมกับขยะเศษอาหารและขยะอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน
2. หากมีการปนเปื้อนให้ล้างทําความสะอาด ดึงเทปกาว กระดาษ หรือสติกเกอร์ออก
3. คัดแยกเศษพลาสติกรวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือส่งจุด Drop Point หรือรวบรวม
ซาเล้ง
1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน
2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก
3. คัดแยกเศษพลาสติกแบบแยกชนิดรวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า
ร้านรับซื้อของเก่า
1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน
2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก
3. เก็บรวบรวมแบบแยกชนิดไว้ในสถานที่ที่กันแดดกันฝนได้เพื่อให้มีความสดใหม่ (Freshness) ความชื้นไม่เกินเกณฑ์ที่โรงงานรีไซเคิลกําหนด
4. การบด บีบอัด ต้องไม่ทําบนพื้นดิน และอุปกรณ์บีบ อัด ต้องมีความสะอาด