กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เผย ไมโครพลาสติกสุดอันตราย ส่งผลร้ายโดยตรงต่อสุขภาพ และภาวะโลกร้อน แนะลดการใช้พลาสติก หันมาใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติอื่นทดแทน
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความระบุว่า ไมโครพลาสติกปะปนกับอากาศที่เราหายใจแบบแยกไม่ออก แม้อนุภาคขนาดเล็กแต่มีจำนวนมหาศาล จะเข้าไปในอากาศได้ เมื่อวัตถุพลาสติกได้รับความเสียหาย จากการขูดขีด เสียดสี บางส่วนที่ติดค้างอยู่ในทะเล จะถูกคลื่นทะเลซัดปนกับละอองน้ำ ระเหยลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ไมโครพลาสติก สามารถเดินทางข้ามทวีปได้ในรูปแบบลม ตามสภาพอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ไปไกลถึงมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและแถบอาร์กติก โดยเฉพาะในช่วง North Atlantic Oscillation (NAO) ช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ส่วนบริเวณพื้นที่เมืองใหญ่ มีแหล่งกำเนิดจากฝุ่นละอองตามถนนถึง 84% ส่วนที่เหลือมากับละอองน้ำทะเล และดินจากการเกษตร
มีข้อมูลระบุว่า หากเราหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกายไปพร้อมกับไมโครพลาสติก เท่ากับเราได้สูดอนุภาคพลาสติก ประมาณ 16.2 ชิ้นต่อชั่วโมง เมื่ออนุภาคเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบหายใจ จะทำให้หลอดลมระคายเคือง และบวมจนหายใจลำบาก เมื่อถึงปอดจะทำลายเนื้อเยื่อปอด ทำให้หายใจไม่อิ่มและแน่นหน้าอก จากนั้นจะไปทำลายถุงลมปอด (alveoli) ซึ่งเสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอดได้ ส่วนอนุภาคที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ผลิตสิ่งทอ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวจนเกิดภาวะหลอดเลือดแดงอุดตัน และทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจวายได้
...
ไมโครพลาสติกในบรรยากาศ ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย คล้ายกับก๊าซเรือนกระจก และละอองฝอย (aerosol) งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์ ระบุว่า ในบรรยากาศมีอนุภาคพลาสติกหลายชนิด แต่ละชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีแตกต่างกัน ทำให้มีความสามารถในการดูดซับแสง และกระเจิงแสงต่างกัน เช่น ไมโครพลาสติก จากเส้นใยผ้าสังเคราะห์ ที่ไม่ย้อมสีสามารถสะท้อนรังสี UV และกระเจิงแสงอาทิตย์ได้ ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง ซึ่งไม่ใช่ไมโครพลาสติกทุกชนิด ที่จะทำให้โลกเย็นลงได้ บางชนิดอาจดูดซับรังสีได้ดี จนทำให้โลกร้อนขึ้น
อีกทั้งความหนาแน่นของไมโครพลาสติกแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพอากาศ แรงลม โครงสร้างเมือง จำนวนประชากรและยานยนต์อีกด้วย ดังนั้น การลดไมโครพลาสติกจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ควรลด ละ เลิกการใช้พลาสติก และหันมาใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติอื่นทดแทน.
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม