“...เงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

พระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 14 จังหวัดในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2498

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็นเวลา 67 ปี ของการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน...อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มีความผันผวนสูง ดังนั้นเพื่อให้ภารกิจของกรมฝนหลวงฯประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวง และการเพิ่มศักยภาพบุคลากร

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บอกถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวง มีการทำวิจัยในหลากหลายมิติมากขึ้น เช่น พัฒนา ระบบโปรยสารฝนหลวงบนอากาศยาน พัฒนาการปฏิบัติการฝนหลวงโดยการนำอากาศยาน ไร้คนขับ พัฒนาเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ พัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศสำหรับใช้ในภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ พัฒนาอุปกรณ์การพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ วิจัยสารฝนหลวงทางเลือกเพื่อให้สามารถทำฝนหลวงได้ในช่วงสภาพอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์น้อย พัฒนาแผนที่ความต้องการน้ำทางอากาศ พัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล

ด้านการเพิ่มศักยภาพบุคลากร มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาด้านวิชาการ ทักษะในการปฏิบัติงาน และฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรสามารถรับมือ และแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของการทำงาน และผลกระทบที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

...

สะ-เล-เต