นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุ สัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) ที่สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.และคณะ ได้หารือร่วมกับผู้แทนสหรัฐอเมริกา นายจอห์น เคอรี ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศและคณะ ถึงแนวทางความร่วมมือในการลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตนได้กล่าวถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายของประเทศไทย ในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

รมว.ทส.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้แทนสหรัฐฯได้แสดงความห่วงกังวลถึงประเด็นการปล่อยก๊าซมีเทนในประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากก๊าซมีเทนมีผลกระทบต่อการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 26-28 เท่า ซึ่งในประเทศไทยพบว่าภาคการเกษตรที่มีการทำนาปลูกข้าวในลักษณะปล่อยน้ำขังไว้ในที่นาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดก๊าซมีเทน
ได้เช่นเดียวกับภาคปศุสัตว์ จึงอยากเชิญชวนทุกประเทศร่วมกันหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซมีเทน เพื่อร่วมกันสนับสนุนการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงปารีสต่อไป.