เป้าหมายสำคัญในการประชุมสุดยอดทางด้านเศรษฐกิจทั้ง เอเปก และ G20 เน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ net-zero แต่ละประเทศตั้งเป้าที่จะลดให้คาร์บอนเป็นศูนย์ตั้งแต่ปี 2030-2060 แล้ว แต่ประเทศไหนจะพร้อมมากกว่ากัน ทั้งนี้เพราะ net-zero จะเป็นภาคบังคับในการลงทุนของแต่ละประเทศ เพื่อลดโลกร้อน ส่วนจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือของ สงครามเย็น อย่างไรหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

ประเทศไทย เป็นประเทศเจ้าภาพ ประชุมเอเปก ในรอบ 20 ปี ความพร้อมไม่พร้อมเป็นอีกเรื่อง ในฐานะประเทศเจ้าภาพ และต้องใช้เงินลงทุนในการจัดงานกว่า 3 พันล้านบาท อย่างน้อย ประเทศไทย ก็ต้องได้ประโยชน์ติดไม้ติดมือบ้าง บนพื้นฐานที่ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 70 ของจีดีพี ดังนั้น การค้าและการลงทุน จึงเป็นส่วนที่เราจะมีโอกาสจากการประชุมครั้งนี้ เราตั้งเป้าที่จะเป็นครัวโลก ซึ่งคงไม่จบที่โต๊ะการเลี้ยงอาหารค่ำของบรรดาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกแน่นอน ต้องมีองค์ประกอบมากกว่านั้น

ในบรรดาประเทศคู่ค้า 10 อันดับแรก เป็นประเทศในสมาชิกเอเปก นอกเหนือจาก คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกจำนวนนับหมื่นคนที่เดินทางเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ส่วนจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง เพราะ โลกสีเขียว ที่เป็นโมเดลของเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ ผูกพันและพัวพัน กับการเมืองและความมั่นคงตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศด้วย

กลไกด้านการเมืองก็ว่ากันไป แต่การขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศที่อยู่ใน โมเดลเศรษฐกิจโลกสีเขียว ต้องมีองค์กรที่ช่วยในการขับเคลื่อนโดยเฉพาะภาครัฐเพียงลำพังไม่สามารถจะเดินให้ถึงเป้าหมายได้ในเวลาที่จำกัดจากขีดความสามารถในการแข่งขัน

ปตท.เป็นหน่วยงานแรก ที่เริ่มตั้งเป้าหมาย net-zero ให้บรรลุเป้าหมายก่อนภาครัฐ ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ไปสู่ Future Energy -Beyond ในฐานะที่เป็นองค์กรมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด นำเงินส่งรัฐมากที่สุด และเป็นองค์กรที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ มีคนไทยถือหุ้นกว่าร้อยละ 28 ด้วยภารกิจ New Vision ที่มองว่า น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ที่ใช้เป็นพลังงานหลักกว่า ร้อยละ 80 ของพลังงานทั้งหมด

...

ในปัจจุบัน จะลดความสำคัญลง จะเห็นชัดเจนในปี 2032 ถ่านหิน ตามด้วยน้ำมัน จะลดปริมาณการใช้ลงเกือบเป็นศูนย์ ยังเหลือ ก๊าซธรรมชาติ ที่จะยังใช้ได้อีกนานพอสมควร หันมาใช้พลังงานสะอาดทดแทน อาทิ พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต การโดยสารขนส่ง จากนั้นจะค่อยๆมีการนำ ไฮโดรเจน มาใช้เป็นพลังงานทดแทนรุ่นต่อไป ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่รถยนต์รถไฟ ไปจนถึงเครื่องบิน ตามเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด

นอกจากเรื่องของพลังงานแล้ว ยารักษาโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็อยู่ในเป้าหมายทางธุรกิจของ ปตท. ซึ่งในอนาคต บริษัทพลังงานทั่วโลกได้เปลี่ยนเป้าหมายหลักความมั่นคงทางพลังงานไม่ได้อยู่ที่สินค้าด้านพลังงานเพื่อความมั่นคงเท่านั้น แต่สินค้าเพื่อความมั่นคงอื่นๆ ก็อยู่ในแผนธุรกิจด้วย

รูปแบบของ go green การใช้พลังงานสะอาดและ go electric รูปแบบพลังงานขั้นสุดท้ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาใช้ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่ net-zero เป็นการลงทุนสีเขียวภาคบังคับที่หนีไม่พ้น.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th